โรคเริม
โรคเริม เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อ Herpes simplex ซึ่งเชื้อไวรัสตัวนี้มีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดที่มักจะพบบริเวณอวัยวะเพศ พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก และชนิดที่ทำให้เกิดแผล (cold sore) บริเวณริมฝีปาก พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
ติดเชื้อเริมที่อวัยวะเพศ
เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และเกิดจากแม่สู่ลูก โดยมารดามีอาการกำเริบของโรคเริมขึ้นระหว่างการคลอดบุตร โอกาสเป็นไปได้สูงที่เชื้อสามารถแพร่ไปยังทารกได้
ติดเชื้อเริมที่ริมฝีปาก
ส่วนมากมักเกิดจากการใช้ของใช้ร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน ช้อน หลอดดูดน้ำ แก้วน้ำ ลิปสติก และการจูบปาก
หมายเหตุ: โรคเริมจะสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ในระยะฟักตัว ก่อนที่จะมีแผลพุพองปรากฏขึ้นบนผิวหนัง ขณะที่อาการปรากฏอยู่ และเมื่อหลังจากที่ตุ่มแผลนั้นเพิ่งหายสนิท
การรักษาโรคเริม
เริมเป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่มีวิธีบรรเทาโรค และป้องกันไม่ให้โรคกลับมากำเริบซ้ำได้ โดยการรักษาเป็นครั้งคราว และแบบระงับอาการ
การรักษาเริมแบบเป็นครั้งคราว
จะใช้ยาต่อต้านไวรัสในในผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการครั้งแรก หรือผู้ติดเชื้อที่มีอาการกำเริบน้อยกว่า 6 ครั้งต่อปี จะใช้ยาต่อต้านไวรัสในแต่ละครั้งที่มีอาการของโรค ซึ่งมีระยะเวลาการใช้ยา 5 วัน
การใช้ยาต้านไวรัสไม่ได้ช่วยให้หายขาด เพียงแต่ช่วยลดความรุนแรงของโรคเท่านั้น แพทย์อาจให้ยา acyclovir เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่จำนวนของเชื้อไวรัส และช่วยลดระดับความรุนแรงของอาการ และทำให้แผลที่ปรากฏนั้นหายเร็ว
ในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง ควรได้รับยาต้านไวรัสเฉพาะโรคร่วมกับยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งอาจจะส่งผลให้เสียชีวิตได้
การรักษาเริมแบบระงับอาการ
ถ้าผู้ติดเชื้อมีอาการกำเริบของโรคมากกว่า 6 ครั้งต่อปี หรือกรณีที่อาการที่กำเริบนั้นมีความรุนแรงมาก อาจมีความจำเป็นต้องใช้ยาต่อต้านไวรัสนานกว่า 5 วัน
แต่เป้าหมายที่แท้จริงของการรักษาแบบนี้คือ เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการกำเริบขึ้นมาอีกในภายภาคหน้า ดังนั้นผู้ติดเชื้อบางคนอาจใช้ยา acyclovir สองครั้งต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน
และถึงแม้ว่าการรักษาแบบระงับอาการนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคเริมไปยังคู่รักได้ แต่ยังคงมีโอกาสเป็นไปได้ ที่เชื้อโรคเริมนั้นยังสามารถแพร่เชื้อได้อยู่
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเริมได้เด็ดขาด โดยแพทย์จะรักษาผู้ป่วยตามอาการ เมื่อหายดีแล้ว เชื้อไวรัสจะยังหลบซ่อนอยู่ภายในป่มประสาท ซึ่งยาไม่สามารถแทรกซึมเข้าไปทำลายได้ เรียกว่าระยะพัก หรือหลบซ่อนตัว เมื่อผู้ป่วยมีภาวะร่างกายอ่อนแอ เชื้อจะย้อนแนวประสาทออกมาแสดงอาการได้อีก
หมายเหตุ: โรคเริมสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องรักษา หรือใช้ยา แต่จะกลับมาเป็นอีกเมื่อร่างกายอ่อนแอ
วิธีป้องกัน โรคเริม
- สวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- งดการมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่อาการของโรคเริมนั้นยังกำเริบอยู่ รวมถึงการสัมผัสผิวหนังด้วย
- หลีกเลี่ยงการจูบเมื่อมีตุ่มใสขึ้นบริเวณปาก
- ไม่ควรมีคู่นอนหลายคน
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การกำเริบซ้ำของโรคเริม
อาการกำเริบซ้ำของเริมมักจะมีความรุนแรงน้อยลงและหายเร็วกว่าครั้งแรก ๆ เพราะร่างการของผู้ติดเชื้อได้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อต้านกับไวรัสเริมแล้ว ส่วนใหญ่อาการของโรคจะกินเวลาไม่เกิน 10 วัน
เมื่อร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด การอาบแดด ความเจ็บป่วย หรืออาจมีภาวะอื่นๆ ที่ภูมิร่างกายต่ำลง มีผลทำให้โรคเริมกำเริบขึ้นอีก
รู้หรือไม่?
- ผู้ที่ติดเชื้อโรคเริมที่อวัยวะเพศสามารถทำกิจกรรมทางเพศได้ แต่หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ขณะที่มีอาการของโรค
- สวมถุงยางอนามัยขณะร่วมเพศสามารถช่วยป้องกันการแพร่เชื้อโรคได้
- ประชากรชาวอเมริกันมากกว่า 50% ติดเชื้อโรคเริมและส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ
- การจูบปากกับผู้ที่มีตุ่มใสที่ริมฝีปากนั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโรคเริมได้
- คุณไม่สามารถติดเชื้อโรคเริมได้จากการนั่งบนโถชักโครกเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ
- โรคเริมที่อวัยวะเพศนั้นสามารถกระจายจากจุดหนึ่งของร่างกายไปยังส่วนอื่น ๆ ได้
- ถ้าคุณไม่เคยมีอาการของผู้เป็นโรคเริมเลยนั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ติดเชื้อโรคเริม
- ความเครียดสามารถกระตุ้นการกำเริบซ้ำของโรคเริมได้ *ผู้ติดเชื้อโรคเริมที่อวัยวะเพศมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอต่อเชื้อไวรัส HIV
- โรคเริมที่อวัยวะเพศไม่ทำให้เป็นหมัน
- เริมที่เกิดบริเวณปากนั้น มักเกิดกับเด็ก แต่จะพบน้อยลงหลังอายุ 35 ปีไปแล้ว
- เริมที่บริเวณอวัยวะเพศจะพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
- คนส่วนใหญ่มักติดโรคเริมทั้งสองชนิดจากการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง