น้ำมันลดความดันโลหิต
ผลการวิจัยใหม่พบว่า อาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันงา และน้ำมันรำข้าว สามารถลดค่าความดันโลหิตสูงได้ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่ใช้น้ำมันงาหรือน้ำมันรำข้าวในการปรุงอาหารทุกวัน ประมาณ 1.25 ออนซ์ สามารถลดค่าความดันโลหิตลงเกือบเทียบเท่ากับผู้ป่วยที่ใช้ยาลดความดันโลหิต
ในกลุ่ม calcium channel blocker เพียงอย่างเดียว และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่บริโภคน้ำมันรำข้าวหรือน้ำมันงาควบคู่ไปกับการใช้ยาลดความดันโลหิตนั้น มีอัตราการลดลงของค่าความดันโลหิตเป็นสองเท่าของผู้ป่วยที่ใช้ยาลดความดันโลหิตเพียงอย่างเดียว
นักวิจัยรายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่า การผสมน้ำมันดังกล่าวในอาหารนั้น ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี LDL และช่วยเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดดี HDL ได้อีกด้วย ขณะที่ภาวะการเปลี่ยนแปลงของคอเลสเตอรอลทั้งสองดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏในจำนวนผู้ป่วยที่รักษาโดยใช้ยาลดความดันโลหิตเพียงอย่างเดียว
“ เคยมีรายงานออกมาก่อนหน้านี้แล้วว่า น้ำมันงานั้นมีผลต่อความดันโลหิตเป็นอย่างมาก ” กล่าวโดยผู้นำทีมวิจัย ดร. เทวราชัน ซันการ์ นักวิจัยวิทยาศาสตร์ ประจำแผนกโรคหัวใจและหลอดเลือดของโรงพยาบาลจิกุชิ มหาวิทยาลัยฟูกุโอกะ เมืองจิกุชิโนะ ประเทศญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านี้ทีมวิจัยได้ค้นพบว่าในน้ำมันงานนั้นมีสารประกอบ calcium-channel-blocking ซึ่งมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกันกับยาลดความดันในกลุ่ม calcium-channel-blocker
“ และตอนนี้เราได้ค้นพบเพิ่มเติมว่า เมื่อผสมน้ำมันงาเข้ากับน้ำมันรำข้าว น้ำมันทั้งสองตัวนี้จะประสานกันทำงานและส่งผลต่อความดันโรหิตสูงได้อย่างน่าทึ่ง” ดร. ซันการ์ กล่าว กลุ่มนักวิจัยเชื่อว่าปฏิกิริยานี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากสารแอนตี้ออกซิแดนท์ – เซซามิน, เซซามอล และ เซซาโมลิน ในน้ำมันงา และออริซานอล ในน้ำมันรำข้าว และน้ำมันทั้งสองนี้ยังอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว – “ ที่เราคุ้นเคยเรียกกันว่า ‘ไขมันดี’ ” ดร. ซันการ์ กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญได้ย้ำเตือนว่า คงจะเป็นการด่วนสรุปเร็วเกินไป ที่จะแนะนำให้ผู้ป่วยเลิกรับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน แล้วหันมาพึ่งวิธีการใช้น้ำมันทั้งสองตัวนี้ปรุงอาหารแทน เพราะว่าการศึกษานี้เป็นเพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้น ยังจำเป็นต้องทำการวิจัยค้นคว้าเพิ่มเติมอีกมาก เพื่อยืนยันว่าการค้นพบนี้เป็นไปได้จริงและสามารถเยียวยารักษาผู้ป่วยได้
ดร. ซันการ์ และผู้ร่วมทีมวิจัยได้มีกำหนดการในการแถลงการค้นพบของพวกเขา ที่งานประชุมของสมาคมหัวใจอเมริกัน (American Heart Association) จัดขึ้นในวันพุธ ที่รัฐวอชิงตัน ดี.ซี. การศึกษานี้กินระยะเวลากว่าสองเดือน โดยมีผู้ป่วยโรคความดันโรหิตวัยเฉลี่ย 57 ปี เป็นผู้ชายจำนวน 160 คน และผู้หญิง 140 คน ร่วมอาสาทดลอง ในการศึกษาผู้ป่วยถูกแบ่งออกเป็นท 3 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่หนึ่งในระหว่างการศึกษานี้ได้รับยาลดความดัน ไนเฟดิปิน ในกลุ่ม calcium-channel-blocker
- กลุ่มที่สองใช้น้ำมันสกัดพิเศษ (ซึ่งยังไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป) ในการประกอบอาหารและปรุงในสลัด น้ำมันนี้ประกอบด้วย น้ำมันรำข้าวกลั่นบริสุทธิ์ที่อุดมไปด้วยสารออริซานอลร้อยละ 80 และน้ำมันงาแบบไม่กลั่นบริสุทธิ์ร้อยละ 20
- กลุ่มที่สามได้รับตัวยาลดความดันไนเฟดิปิน ควบคู่ไปกับสูตรน้ำมันประสม
หลังจากตรวจวัดค่าความดันฯ ทุก ๆ 15 วัน ทีมศึกษาพบว่า ผู้ป่วยทุกรายมีผลการเปลี่ยนแปลงค่าความดันตัวบน (ตัวเลขตัวบนในการอ่านค่าความดันฯ) และค่าความดันตัวล่าง (ตัวเลขตัวล่างในการอ่านค่าความดันฯ) ลดลงค่อนข้างมาก แต่ในผู้ป่วยที่บริโภคน้ำมันสูตรประสมควบคู่กับยาลดความดันนั้น มีผลค่าความดันโลหิตเป็นที่น่าพึงพอใจที่สุด โดยผลค่าความดันตัวบนที่อ่านได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาลดความดันหรือน้ำมันสูตรประสมเพียงอย่างเดียวนั้นค่าความดันลดลง 14 และ 16 จุด ขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับทั้งสองอย่างควบคู่กันนั้น มีผลค่าความดันที่อ่านได้ลดลง 36 จุด กรณีคล้ายกันกับผลค่าความดันตัวล่างที่อ่านได้ ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาลดความดันหรือน้ำมันสูตรประสมเพียงอย่างเดียวนั้นค่าความดันลดลง 11 และ 12 จุด ขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับทั้งสองอย่างควบคู่กันนั้น มีผลค่าความดันที่อ่านได้ลดลง 24 จุด กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับน้ำมันสูตรประสมหรือยาลดความดัน channel-blocker เพียงอย่างเดียวนั้น พบว่าอัตราการลดลงของคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีอยู่ที่ร้อยละ 26 ถึงร้อยละ 27 และมีอัตราการเพิ่มของคอเลสเตอรอลชนิดดีที่ร้อยละ 9.5 ถึงร้อยละ 10.9
ดร. ซันการ์ กล่าวว่าทีมของเขาวางแผนที่จะทำการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างน้ำมันสูตรประสมนี้กับตัวยาลดความดันตัวอื่น ๆ เช่น beta-blockers และ ACE inhibitors.
นางลอน่า แซนดอน นักโภชนาการและผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ ของUniversity of Texas Southwestern Medical Center เมืองดัลลัส กล่าวเกี่ยวกับการศึกษานี้ว่า ” นี่เป็นการแสดงให้เห็นศักยภาพของอาหารและองค์ประกอบของอาหาร “ และให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การค้นพบเช่นเดียวกันนี้ล้วนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจากบันทึกของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Centers for Disease Control and Prevention) เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตที่ไม่ได้รับการตรวจทางการแพทย์ ความดันโรหิตสูงอาจนำไปสู่สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองได้
อย่างไรก็ตามนางแซนดอนได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ” การวิจัยนี้น่าสนใจและเป็นความหวังอย่างยิ่ง แต่เราก็ยังต้องจับตามองกันต่อไป”
ดร.เกร็ก ฟอนาโรว์ โฆษกแห่งสมาคมหัวใจอเมริกัน (American Heart Association) และ ศาสตราจารย์แห่งภาควิชาหทัยวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองลอสแองเจลลิส แสดงความความเห็นพ้องว่า ” ขณะที่เราประจักษ์กันดีว่าอาหารและพฤติกรรมการกินส่งผลโดยตรงต่อความดันโลหิต แต่เราอาจจะยังพอเห็นว่า นี่อาจเป็นเพียงผลที่แสดงออกมาจากสัดส่วนของความคาดหวังของใครซักคนหนึ่งก็ได้ ” ดร. ฟอนาโรว์ กล่าว ” ปัญหาอีกข้อหนึ่งคือผลการค้นคว้านี้อาจสืบเนื่องมาจากการออกแบบการศึกษา และผู้ป่วยรู้ว่าพวกเขาจะได้รับทดลอง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความยับยั้งของอาการของโรคขึ้นเล็กน้อยและนั่นอาจจะเป็นความหมายแท้จริงของการค้นพบเช่นนี้ก็ได้”
ดร.ฟอนาโรว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ” ผมคงจะระมัดระวังกับการตีความนัยของผลการค้นคว้าเหล่านี้และ ผมอยากจะประจักษ์กว่านี้ว่าผลการค้นคว้านั้นได้จำลองขึ้นมาอย่างเป็นอิสระ” ข้อมูลและข้อสรุป ณ ที่ประชุมนั้นควรจะถือเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น จนกว่าจะได้ถูกตีพิมพ์อย่างเป็นทางการบนวารสารทางการแพทย์
วิธีเลือกน้ำมันพืชในการประกอบอาหาร