มะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมาก(Prostate Cancer) เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ที่ต่อมลูกหมาก อาจทำให้ต่อมลูกหมากมีขนาดโตขึ้น และอาจลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ถุงเก็บน้ำอสุจิ ท่อปัสสาวะ และสามารถกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณเชิงกรานและบริเวณกระดูกได้
ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธ์ของเพศชาย หากมีการทำงานผิดปกติ เช่น ต่อมลูกหมากโต หรือเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จะส่งผลต่อการทำงานของระบบสืบพันธ์ในทันที และหากลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยง
- กรรมพันธุ์ หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จะทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป 2-5 เท่า
- การรับประทานอาหารไขมันสูง
- ขาดการออกกำลังกาย
- การเผชิญกับมลภาวะและความเครียดสะสม
- อายุ ส่วนมากพบในเพศชายอายุ 50 ปีขึ้นไป
- สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นต้นเหตุของมะเร็งทุกชนิด
อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ปัสสาวะบ่อยและลำบาก โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
- ปัสสาวะไม่พุ่ง ติดขัด กระปริดกระปอย หรือกลั้นไม่อยู่
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- มีน้ำอสุจิปนเลือด
- เกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
หมายเหตุ: อาการเหล่านี้อาจเกิดจากต่อมลูกหมากโต หรือโรคอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่โรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้เช่นกัน ดั้งนั้นเมื่อมีอาการดังกล่าว หรือมีอายุครบ 50 ปีขึ้นไป จึงควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายเบื้องต้น
การวินิจฉัย
- การตรวจทางทวารหนัก หรือการทำอัลตร้าซาวด์ทางต่อหมากทางทวารหนัก
- เจาะเลือด เพื่อตรวจหาระดับ PSA (Prostate Specific Antigen) ค่าปกติอยู่ที่ระดับ 4 ng/ml. ถ้ามีค่า PSA มากกว่าปกติ แพทย์แนะนำให้ตัดชิ้นเนื้อ เพื่อวินิจฉัยต่อไป
- การเก็บชิ้นเนื้อไปตรวจ
หมายเหตุ: หากมีการใช้ยาในกลุ่มของฮอร์โมนเพศอยู่ ควรแจ้งแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสม เพราะยานี้จะไปบิดเบือนค่า PSA ที่ใช้ในการตรวจต่อมลูกหมากได้
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก
- การเฝ้าระวัง เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากมีลักษณะลุกลามช้า ผู้ป่วยบางคนที่ตรวจพบในระยะเริ่มต้น แพทย์อาจจะยังไม่ให้การรักษา แต่จะต้องมีการตรวจติดตามความเปลี่ยนแปลงเป็นระยะอย่างใกล้ชิด
- การผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาโดยการผ่าตัดต่อมลูกหมากและต่อมน้ำเหลืองโดยรอบที่อาจมีเซลล์มะเร็งอยู่ออกไป ซึ่งอาจมีผลข้างเคียง เช่น ปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศ หรืออาจมีการปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะราด หรือปัสสาวะไม่ออก
- การฉายรังสี โดยการการฉายรังสีจากภายนอกและการฝังแร่ เพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็ง วิธีนี้อาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ท้องเสีย ปัสสาวะบ่อย แสบขัด ปัสสาวะเล็ด หรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้
- การรักษาด้วยฮอร์โมน เพราะฮอร์โมนเพศชายมีผลกระตุ้นเซลล์มะเร็ง การให้ยาลดระดับฮอร์โมนจะช่วยลดหรือกำจัดฮอร์โมนเพศชายได้ ทำให้มะเร็งฝ่อเล็กลงหรือโตช้า แต่มีผลข้างเคียงคือ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีความต้องการทางเพศน้อยลง และอาจทำให้กระดูกมีความแข็งแรงน้อยลง
- การผ่าตัดเอาอัณฑะออก เพื่อกำจัดแหล่งกำเนิดฮอร์โมนเพศชาย วิธีนี้อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกซึมเศร้าหรืออาการหดหู่ได้
- การรักษาด้วยคีโม ใช้ในกรณีที่โรคดื้อต่อการรักษาด้วยฮอร์โมนแล้ว ซึ่งยาเคมีบำบัด หรือยาคีโม เป็นยาที่รบกวนการแบ่งตัวของเซลล์ ทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง วิธีจะใช้ในกรณีที่เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจาย ผลข้างเคียง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันต่ำเป็นต้น
รู้หรือไม่?
- โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมาพบแพทย์ในระยะเริ่มแรก
- มะเร็งต่อมลูกหมากมักเกิดขึ้นอย่างไร้สัญญาณเตือน
- การปั่นจักรยานไม่ได้ทำให้เป็นต่อมลูกหมาก
- ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์บ่อย จะช่วยลดอัตราเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากได้
- แนะนำให้ผู้ชายทานสังกะสี เพื่อการสร้างฮอร์โมนที่สมดุล
- ทานผักผลไม้ที่มีสีแดง เพราะมีไลโคปิน (Lycopene) ช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้ พบมากในมะเขือเทศที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว
- ผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาค่า PSA ปีละ 1 ครั้ง
- ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิประกันสังค หรือสิทธิบัตรทอง เพื่อเข้ารับการรักษาได้ฟรี ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมถึงสิทธิการรักษาได้ที่สถานพยาบาลต้นสังกัดของผู้ป่วย