โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า (Majar Depressive Disorder [MDD]) เป็นการเจ็บป่วยทางจิตใจชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะติดอยู่ในช่วงเวลาเศร้ายาวนาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแปรปรวนของสารสื่อนำประสาท และการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเซลล์สมองบางส่วน ที่เชื่อมโยงกับการทำงานด้านอารมณ์
โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคจิต แต่เป็นโรคทางอารมณ์ที่ใครก็มีสิทธิเป็นได้ เป็นโรคทางจิตเวชที่ทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ผิดปกติไปจากความเป็นจริง รู้สึกไม่มีความสุข มีอารมณ์ซึมเศร้าอยู่เป็นเวลานาน จนส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวัน
ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการจัดการอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์ด้านลบ ความคิด และพฤติกรรมของตนเอง จะมีอาการซึมเศร้า หดหู่ ท้อแท้อยู่ตลอดเวลา บางทีกินอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด เป็นมากๆ อาจมีประสาทหลอนหรือคิดอยากตายได้
สาเหตุของโรคซึมเศร้า
- มีความผิดปกติของสารเคมีในสมองไม่สมดุล
- พันธุกรรม
- การเลี้ยงดูและนิสัยในวัยเด็ก
- ปมปัญหาชีวิตในตอนโต รับมือกับความเครียดได้ไม่ดี
- ปัจจัยทางสังคม เช่น ความเครียดจากเหตุการณ์ในชีวิต สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู ลักษณะนิสัย บุคลิกภาพ
- ประสบการณ์ในแต่ละช่วงของชีวิต เช่น ครอบครัวแตกแยกในวัยเด็ก
อาการของโรคซึมเศร้า
- อารมณ์เศร้าซึมเกือบทั้งวัน ไม่สบายใจ ท้อแท้ และเป็นทุกวัน ในเด็กและวัยรุ่น อาจมีอารมณ์หยุดหงิด
- วิตกกังวลบ่อยขึ้น ท้อแท้ง่าย
- เก็บเนื้อเก็บตัว ทำอะไรก็ไม่มีความสุข ความสนใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก เมื่อก่อนเคยชอบทำอะไรก็จะรู้สึกไม่อยากทำ
- มองโลกในแง่ร้าย คิดลบ รู้สึกคนรอบข้างไม่เข้าใจ
- เบื่ออาหาร หรือทานมากขึ้นจนน้ำหนักเปลี่ยนแปลงไปมาก
- นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินไป
- กระวนกระวาย อยู่ไม่สุขหรือเชื่องช้าลง
- รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไร้เรี่ยวแรง
- รู้สึกไร้ค่า ผิดหวังกับตัวเอง อยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ มักเกิดจากการครุ่นคิดของผู้ป่วย จากมุมมองต่อปัญหาที่บิดเบียนไป
- ไม่มีสมาธิ ใจลอย การรับรู้ช้า ความจำแย่ลง ไม่กล้าตัดสินใจ
อาการของโรคจะรุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี จนอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายหรืออาจทำร้ายผู้อื่นได้ หากมีอาการดังกล่าว 5 อาการ หรือมากกว่า และเป็นปัญหาต่อเนื่องเป็นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรไปพบแพทย์
ตัวอย่างโรคซึมเศร้า
- โรคซึมเศร้าหลังคลอดบุตร คุณแม่หลังคลอดบุตร มักมีอาการซึมเศร้าที่รุนแรง และใช้เวลานานกว่าจะกลับมาเป็นปกติ ภาวะซึมเศร้านี้เรียกว่า “baby blues”
- โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล เป็นภาวะซึมเศร้าในช่วงฤดูหนาว และฤดูใบไม้ร่วง ส่วนใหญ่เกิดกับผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิอากาศที่มีแสงแดดน้อย
- โรคซึมเศร้าก่อนมีรอบเดือน ส่วนใหญ่จะมีอาการซึมเศร้าเกิดขึ้นประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนและหลังช่วงมีประจำเดือนมา
- โรคซึมเศร้าโรคจิต เป็นภาวะซึมเศร้าที่รุนแรง ที่เกิดในผู้ป่วยโรคจิต (Depression) มักเกิดพร้อมอาการทางจิต เช่น เห็นภาพลวงตา และภาพหลอน
การรักษาโรคซึมเศร้า
การทำจิตบำบัด
การทำจิตบำบัดกับนักจิตบำบัด มักใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าน้อยถึงปานกลาง ในบางรายอาจเป็นเพียงการนั่งพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติของผู้ป่วย ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในบางรายอาจใช้การดูหนัง ดูภาพ และปรับให้เปลี่ยนทัศนคตินั้นให้เป็นในเชิงบวก
การรักษาด้วยยาต้านเศร้า
ยาต้านเศร้าจะช่วยในการปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง ทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอารมณ์และลดความเครียดได้ ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และห้ามหยุดยาเองเมื่อมีอาการดีขึ้น
ยาต้านเศร้าจะไม่ออกฤทธิ์ทันที โดยทั่่วไปจะใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ กว่ายาจะออกฤทธิ์และเห็นผล และเมื่ออาการของผู้ป่วยดีขึ้น แพทย์จะค่อยๆ ลดยาลง และให้หยุดเมื่อการรักษาได้ผลดีแล้ว ในบางรายอาจใช้เวลา 6 เดือน บางรายอาจใช้เวลา 1-2 ปี
การใช้ยาต้านเศร้าอาจมีผลข้างเคียงในระยะ 2-3 สัปดาห์แรก เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ และความต้องการทางเพศลดลง
หมายเหตุ: ในผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง แพทย์จะใช้ยาต้านเศร้าและการทำจิตบำบัด ควบคู่กันในการรักษา
การรักษาทางสังคม
โรคซึมเศร้าเป็นอาการป่วยทางสมอง ที่มีผลต่อทางใจและร่างกาย สิ่งที่รักษาผู้ป่วยได้อย่างแรกคือ กำลังใจจากคนใกล้ชิด ควบคู่ไปพร้อมๆ กับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้า
- ถ้ารู้สึกเหนื่อยให้หยุดพัก เช่น เจอปัญหาใหญ่ขบคิดแก้ไม่ออก ยิ่งแก้ยิ่งเหนื่อย ยิ่งหมดแรง แบบนี้ให้หยุดพักและให้มีสติ พักผ่อนให้สบายใจขึ้นแล้วค่อยกลับมาแก้ปัญหา เพราะถ้าไม่หยุดจะทำให้เราเกิดภาวะซึมเศร้าได้
- หาสาเหตุของปัญหา จะพบว่าปัญหาไม่ได้แย่ขนาดนั้น
- หาตัวช่วย เช่น คนใกล้ชิด เลือกคนที่ไว้ใจ คนที่สามารถช่วยเหลือเราได้
- หางานอดิเรกทำ เช่น ทำอาหารหรือต่อจิกซอว์ จะช่วยสร้างสมาธิ และทำให้สามารถจดจ่อได้มากขึ้น
- ตั้งเป้าหมายเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า และไม่มีความสามารถ การตั้งเป้าหมายเล็กๆ จะสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย
- การออกกำลังกาย ทำให้สารเอ็นโดรฟินหลั่งออกมา ทำให้รู้สึกมีความสุข อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นสมองให้มีความตื่นตัวมากขึ้นในระยะยาว
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ และทานให้ครบทั้ง 5 หมู่
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อน 6-8 ชั่วโมง จะช่วยให้ลืมความกังวลไปได้
สิ่งสำคัญที่จะรับมือกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คือการหาทางให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เชื่อฟังคำแนะนำจากแพทย์ ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ประกอบกับความเข้าใจของคนในครอบครัว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติเร็วขึ้น
โรคเครียดกับโรคซึมเศร้าต่างกันอย่างไร?
โรคเครียดจะเป็นอยู่ไม่นาน โดยทั่วไปจะมีสาเหตุชัดเจน เช่น อกหัก โดนไล่ออกจากงาน มีปัญหาเรื่องงาน ประมาณ 1-2 วัน อาการก็จะค่อยๆ ดีขึ้น หรือถ้ามีคนเสนอตัวเข้ามาช่วย ก็จะยอมรับความช่วยเหลือนั้นดีขึ้น
แต่ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าอาการจะเป็นอยู่นาน และรุนแรงกว่า บางทีไม่ต้องมีสาเหตุ อารมณ์จะซึ่มเศร้าโดยที่ไม่มีปัจจัยอะไรมากระตุ้นเลย ผู้ป่วยจะมองแต่มุมของตัวเอง ไม่เปิดรับความช่วยเหลือหรือมุมของคนอื่นเลย
รู้หรือไม่?
- คนเงียบมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงมากกว่าคนที่พูดเยอะ
- คนที่อยากตาย เขาอาจไม่ได้อยากตายเพราะความคิดของตัวเอง แต่เป็นเพราะสมองหลั่งสารเคมีผิดปกติ จนทำให้สูญเสียความสามารถในการควบคุมตัวเองได้
- ผู้ป่วยได้อยากเศร้า แต่สมองสั่่งให้รู้สึกเศร้าโดยที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
- หลายคนเป็นโรคซึมเศร้าแต่ไม่รู้ตัว
- ผู้หญิงป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย
- ศิลปินหรือคนที่ทำงานเกี่ยวกับศิลปะ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ใช้อารมณ์อยู่กับตัวเองเยอะ คนที่เรียนเก่งมากๆ หรือ คนที่เรียนแย่มากๆ คนกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าสูง
- ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกแม้จะรักษาหายแล้ว ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง
- สารเซโรโทนิน (Serotonin) เป็นสารเคมีที่เมื่อเข้าสู่สมองแล้วทำให้เกิดความสดชื่น ไม่เศร้า พบมากมากในอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ถั่ว งา ธัญพืช แอปเปิ้ล กล้วย ผักใบเขียวต่างๆ
- สารทริบโตฟาน (Tryptophan) เป็นสารตั้งต้นที่ร่างกายเปลี่ยนให้เป็นสารเซโรโทนิน ถ้าไม่มีทริปโรฟานก็จะไม่มีโซโรโทนิน พบมากในดากช็อกโกแลต กล้วย นมสด ผักผลไม้ ถั่วเหลือง ไข่แดง
- การได้รับแสงแดดอ่อนตอนเช้า มีส่วนช่วยในการบรรเทาโรคซึมเศร้าได้
- การออกกำลังกาย เล่นโยคะ ก็ช่วยลดความเครียดได้
- โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกวัย
- คนที่ไม่น่าเป็นโรคซึมเศร้าคือผู้ป่วยที่อันตรายที่สุด
- อย่าบอกให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้าต้องเข้มแข็ง อย่าอ่อนแอหรือให้ปล่อยวาง เพราะเป็นคำพูดทำนองนี้จะไปเพิ่มความกดดันความคิดด้านลบต่อตัวเองเพิ่มขึ้นไปอีก
- คนไทยเสียชีวิตจากโรคซึมเศร้าเฉลี่ย 300 คนต่อเดือน ถือเป็นอันดับ 3 ของโลก
ผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าไม่ได้ต้องการอะไรเลย แค่ต้องการให้คนรอบข้างเข้าใจและรับฟังเขาให้มากขึ้น ฟังในความคิดความทุกข์ของเขา อยู่ข้างๆ แสดงความรู้สึกและเข้าใจ แค่นี้ก็เป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้ป่วยแล้ว
อยากสอบถามเรื่องการรักษา หรือมีข้อสงสัย โทร1332 สายด่วนสุขภาพจิต ฟรี 24 ชั่วโมง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข