โรคลมชัก หรือ โรคลมบ้าหมู ( Epilepsy ) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์สมอง บริเวณผิวสมอง ถ้ากระแสไฟฟ้าที่อยู่ในสมองเกิดรัดวงจร หรือเกิดความผิดปกติบางอย่าง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท จนควบคุมตัวเองไม่ได้
ถ้าเซลล์สมองเกิดผิดปกติบริเวณส่วนของการควบคุมกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการชักเกร็ง กระตุก เหมือนถูกไฟฟ้าซ๊อต ชักแบบเป็นๆ หายๆ บางคนอาจมีอาการเกิดขึ้นเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาจหมดสติ หรือไม่หมดสติก็ได้ บางคนอาจแค่มีพฤติกรรมนิ่ง และเหม่อลอย
อาการชัก
- อาการชักมักเกิดขึ้นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 2-5 นาที
- มีภาวะวูบ เหมอลอย เกร็ง กระตุกเล็กน้อย เคี้ยวปากโดยไม่รู้สึกตัว ซึ่งอาการนี้จะเกิดขึ้นแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น ถ้าไม่สังเกตุดีๆ จะไม่รู้เลยว่ามีอาการของโรคเกิดขึ้น
- มีลักษณะไม่รู้สึกตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีอาการชัก กัดฟัน กัดลิ้น หมดสติ น้ำลายฟูมปาก
- มีอาการวูบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะจำอะไรไม่ได้ แต่ก็มีบางคนที่วูบแล้วแต่ยังพอจะจำเหตุการณ์ได้อยู่ แต่ก็ไม่คิดว่าตัวเองป่วย กว่าจะรู้ว่าตัวเองป่วย ก็มีอาการแสดงออกมามากแล้ว
- มีอาการเตือนก่อนที่จะหมดสติ เช่น การเห็นแสงวาบ แขนขาชา กระตุก ได้กลิ่นแปลกๆ เช่น กลิ่นยางไหม้ กลิ่นน้ำหอม หรือได้ยินเสียงดังๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีเสียงดังเกิดขึ้นจริง หรือเกิดอาการกลัวอย่างไม่มีเหตุผล
- สำหรับผู้สูงอายุที่เริ่มสมองเสื่อมลง อาจมีอาการไข้สูง
สาเหตุ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
- กลุ่มที่มีสาเหตุชัดเจน เช่น เด็กที่มีความพิการทางสมองตั้งแต่กำเนิด ผู้ประสบอุบัติเหตุกระทบกระเทือนศีรษะ ผู้ที่มีเนื้องอกในสมอง หรือมีสารเสพติดที่เป็นสิ่งกระตุ้นสมองให้เกิดอาการชัก
- กลุ่มที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน อาจเกิดจากพันธุกรรม
วิธีรักษา
โรคลมชักมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ การรักษาด้วยยากันชัก เป็นการรักษาหลักในผู้มีอาการชักเกือบทุกคน จะรักษาอาการตามสาเหตุที่เป็น ทานยากันชักต่อเนื่องอย่างน้อย 2-5 ปี อย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดยา
ผู้ป่วยส่วนใหญ่รักษาหายได้ด้วยยากันชัก 1 ชนิด แต่บางคนอาจใช้ยามากกว่า 1 ชนิด สำหรับคนที่ทานยาหลายชนิดแล้ว แต่ยังควบคุมโรคไม่ได้ อาจต้องรักษาด้วยการผ่ารตัดร่วมกับยากันชัก
การดูแลผู้ป่วย โรคลมชัก
- ผู้ที่รักษาด้วยยา ต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 2-5 ปี และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีอาการชักเกิดขึ้น
- แต่ในกลุ่มที่มีสาเหตุเฉพาะ ต้องรักษาตามสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ ก้อนเนื้องอกในสมอง ฝีในสมอง จะต้องได้รับการผ่าตัด หรือหยุดการใช้ยาหรือสิ่งกระตุ้น
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้มีความแข็งแรงอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงที่จะไปกระตุ้นให้เกิดการชัก เช่น ภาวะเครียด เพลีย เหนื่อยล้า อดหลับอดนอน หรือทานอาหารไม่ตรงเวลา ดื่มแอลลกอฮอล์
การช่วยเหลือผู้ป่วยชัก อย่างถูกวิธี
- ตั้งสติให้ดี ไม่ตื่นเต้น
- ต้องดูแลระวังไม่ให้เกิดการสำลัก หรือมีอะไรอุดกั้นทางเดินหายใจ
- ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุขณะชัก เช่น ตกเตียง ล้ม หรือกระแทกสิ่งของต่างๆ และห้ามคนมุงดู
- ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ผ้าหรือช้อน ใส่ในปากของผู้ป่วยขณะชัก เพราะจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี คืออาจทำให้สิ่งที่ใส่ในปากอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือทำให้ผู้ป่วยอาเจียนได้
- ระหว่างชัก ห้ามปั้มหน้าอก และอย่ายึดตึงหรือกดทับผู้ป่วย เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กระดูกหัก ข้อหลุด
- อย่านำเม็ดยา มะนาว พริก เข้าปากผู้ป่วย
- จับผู้ป่วยนอนตะแคง ใช้หมอนรองหัว เพื่อป้องกันลิ้นตก
- ถ้ามีน้ำลาย หรือเศษอาหารในปาก ให้พยายามนำออกมากจากปากให้มากที่สุด แต่ห้ามงัดปากขณะผู้ป่วยกัดลิ้น หรือกัดฟันอยู่ เพราะอาจทำให้ฟันหัก หรือผู้ป่วยอาจกัดมือเราได้
- ถ้าผู้ป่วยหน้าเขียว หายใจติดขัด ต้องรีบนำส่งโรงพยาลให้เร็วที่สุด
- เมื่อผู้ป่วยหยุดชัก ให้ตรวจเช็คว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือไม่ รู้สติดีหรือยัง คอยดูแลพูดคุยกับผู้ป่วย
- นำส่งโรงพยาบาล เมื่อมีการบาดเจ็บรุนแรง เช่น กระดูกหัก ข้อต่อหลุด หรือชักนานกว่าทุกครั้งที่เคยเป็น หรือเกิน 5 นาที เพราะถ้านานเกิน 5 นาที โอกาสหยุดชักจะน้อย สมองจะชักต่อเนื่อง ทำให้เกิดอันตราย ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล
- ถ้าชักเกิน 5 นาที แล้วไปโรงพยาลไม่ทัน ควรรีบให้ยาหยุดอาการชัก โดยการใช้ยาเหน็บเข้าทางรูทวาร เพราะขณะชัก ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว จึงไม่สามารถทานยาได้
สิ่งที่ผู้ป่วย ไม่ควรทำ
- ขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์
- เล่นกีฬาผาดโผนที่มีการปะทะรุนแรง
- ลดยา หยุดยาเอง หรือทานเฉพาะวันที่ชัก จะทำให้ยาไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา ทำให้ควบคุมโรคไม่ได้
- ซื้อยาทานเอง โดยไม่ไปพบแพทย์
- ดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง และแอลกอฮอล์ เพราะจะไปกระตุ้นสมองให้มีการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการชักได้ง่ายขึ้น
- อดนอน นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะทำให้สมองล้า เครียด ทำให้เกิดการชักได้ง่าย
- อาบน้ำในอ่างอาบน้ำ หรือเล่นน้ำในลำธาร
รู้หรือไม่?
- โรคลมชักเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยๆ ประมาณ 70 ใน 1000 คน เป็นโรคนี้ ซึ่งสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย
- ความอันตรายของโรค ไม่ได้อยู่ที่อาการชัก แต่อยู่ที่กิจกรรมของผู้ป่วยว่ากำลังทำอะไรระหว่างที่เกิดอาการ เพราะในตอนนั้นผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว บังคับตัวเองไม่ได้
- อาการของโรคมักเกิดขึ้นได้ง่ายๆ กับเด็กวัย 6 เดือน ถึง 6 ขวบ และผู้สูงอายุเกิน 60 ปี