ผงชูรส
งานวิจัย ผงชูรส กว่า 200 รายงาน ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 – 2549 จากหลายหน่วยงานทั่วโลก เช่น หน่วยงานอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา องค์การอนามัยโลก และคณะกรรมการวิชาการทางอาหารแห่งสหภาพยุโรป ได้รับรองให้ผงชูรสเป็นสารปรุงแต่งอาหารที่ปลอดภัย สามารถบริโภคโดยปกติได้ทุกวันในปริมาณที่เหมาะสม โดยพิจารณาให้อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับเกลือ น้ำตาล และพริกไทย
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประชากร (เพียงส่วนน้อย) ที่อาจเกิดอาการแพ้ผงชูรส แต่อาการเหล่านั้นไม่รุนแรง และเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และหายได้เอง
ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผงชูรสกับการก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพอย่างรุนแรง หรือมีผลในระยะยาวต่อมนุษย์
ผงชูรสทํามาจากอะไร
ผงชูรสเป็นสารเคมี ผลิตจาก ข้าวสาลี แป้งมันสำปะหลังและกากน้ำตาล ผ่านกระบวนการทางเคมี เป็นสารปรุงแต่งรสอาหารให้มีรสชาติดี แต่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ และไม่จำเป็นต่อร่างกาย
ปรุงอาหารด้วยผงชูรสอย่างไรให้อร่อยและปลอดภัย
โดยธรรมชาติของผงชูรส จะใช้ในการปรุงอาหารที่มีรสจัดได้ดี โดยเฉพาะรสเค็มและเปรี้ยว การปรุงอาหารด้วยผงชูรส ต้องใส่ในปริมาณที่เหมาะสมประมาณ 1 ช้อนชาพอจะทำให้อาหารมีรสชาติที่อร่อย ถ้าใส่ผงชูรสมากเกินไปจะทำให้รสชาติอาหารแย่ลง และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้
ผงชูรสยังช่วยให้ร่างกายหลั่งสารอินซูลินมากขึ้น มีผลทำให้หิวมากขึ้น และยังไปกระตุ้นต่อมรับรสอูมามิ ทำให้รู้สึกถึงรสชาติอาหารที่อร่อยขึ้น ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่หลายคนทานขนมขบเคี้ยว แล้วรู้สึกอยากทานอีก และสามารถทานได้ในปริมาณที่มาก
กินผงชูรสในปริมาณมากๆ อาจทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
การบริโภคผงชูรสในปริมาณมากๆ ในครั้งเดียว อาจทำให้มีอาการชาที่บริเวณ ปาก ลิ้น ปวดท้อง ปวดศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน กระหายน้ำ หายใจไม่สะดวก หัวใจเต้นผิดปกติได้ เป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวและหายเองได้