แผลเบาหวาน
แผลเบาหวาน สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานมานาน มีน้ำตาลในเลือดสูง จะส่งผลให้เส้นประสาทที่เท้าเสื่อม กระดูกผิดรูป เท้าชา เวลาเดินไปเตะหรือเหยียบสิ่งของจะไม่รู้สึกอะไร จึงทำให้เกิดแผลที่เท้าได้ง่ายกว่าคนปกติ และมักเป็นแผลเรื้อรัง
วิธีดูแลเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน แผลเบาหวานถ้าดูแลและปฏิบัติถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงการลุกลามของแผลได้ หากเป็นมากและไม่ได้รับการรักษาดูแลอย่างถูกวิธี อาจถึงขั้นสูญเสียอวัยวะส่วนขาและเท้าได้
การรักษาแผลเบาหวาน
- ต้องตรวจร่างกายดูสาเหตุของแผล
- ถ้าเท้าชาและมีแผลกดทับ แก้ไขโดยการตัดรองเท้าเพื่อลดการกดทับบริเวณแผล ทำให้แผลหายเร็ว
- แผลขาดเลือด จะรักษาโดยการเพิ่มเลือดไปเลี้ยงทำบอลลูนขยายหลอดเลือด การผ่าตัดบายพาสเพื่อเชื่อมต่อหลอดเลือดไปยังจุดที่ไม่ตีบตัน
- ใช้เครื่องตรวจออกซิเจนทางผิวหนัง ติดบริเวณใกล้ๆ แผล ซึ่งสามารถตรวจได้ว่าแผลจะหายหรือไม่
- ถ้าใช้เครื่องตรวจแล้วพบว่าแผลหายช้า ก็จะใช้เครื่องออกซิเจนความดันสูงในการรักษา โดยแพทย์จะส่งผู้ป่วยเข้าเครื่องออกซิเจนความดันสูง ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายสร้างเส้นเลือดฝอยใหม่บริเวณแผล และช่วยเพิ่มคอลลาเจนไปเลี้ยงที่แผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
- ใช้เครื่องช็อคเวฟ เป็นการกระแทกความถี่สูง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูและซ่อมแซมตัวเอง วิธีนี้ง่ายทำแค่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
วิธีดูแลเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน
- ตรวจและดูแลผิวหนังทุกวัน หากมีอาการอักเสบ รอยแดง หรือเป็นแผลไม่หายภายใน 2-3 วัน ควรรีบปรึกษาแพทย์
- ควบคุมระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด รับประทานยาและควบคุมอาหารตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
- ทำความสะอาดเท้า ล้างเท้าให้สะอาดทุกวันด้วยสบู่ เช็ดเท้ารวมทั้งตามซอกนิ้วเท้าให้แห้งอยู่เสมอ
- ทาโลชั่นที่บริเวณผิวเท้าเพื่อป้องกันผิวแห้ง แต่ไม่ควรทาบริเวณซอกระหว่างนิ้วเท้า
- ถ้ามีแผลเล็กน้อย ควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดกับสบู่ หรือน้ำเกลือล้างแผล และทายาสำหรับแผลเบาหวานโดยเฉพาะ ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์หรือเบตาดีนทา และห้ามใช้ยาฆ่าเชื้ออย่างแรง ถ้าแผลใหญ่บวมแดง ควรรีบไปพบแพทย์
- ตัดเล็บเท้าด้วยความระมัดระวังและตัดให้ถูกวิธี โดยตัดขวางเป็นเส้นตรงให้พอดีกับเนื้อ เพื่อป้องกันเล็บขบ
- ใส่ถุงเท้าที่สะอาด และไม่ใช้ถุงเท้าที่รัดเกินไป เพราะจะทำให้เลือดไปเลี้ยงเท้าไม่สะดวก
- เลือกใช้รองเท้าที่นิ่ม ไม่คับหรือหลวมไป และสวมรองเท้าทั้งในและนอกบ้านเพื่อป้องกันการเกิดแผล และตรวจดูภายในรองเท้าก่อนสวมทุกครั้ง
- ออกกำลังเท้าอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 15 นาที เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น โดยต้องผ่านการปรึกษาจากแพทย์ผู้ดูแล และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับเท้า
- หากมีตุ่มหนอง บาดแผล หรือการอักเสบที่เท้า อย่าใชเข็มบ่งเอง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษา
- ผู้ป่วยเบาหวานห้ามแช่เท้าในน้ำร้อนและไม่ควรนั่งไขว่ห้าง เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก
ทำไมคนเป็นเบาหวานบางทีต้องตัดขา?
โดยปกติเมื่อเป็นแผล และเกิดการติดเชื้อร่างกายนั้น จะมีเม็ดเลือดขาวคอยไปกำจัดแบคทีเรียที่เข้ามาในร่างกาย แต่เพราะเส้นเลือดที่ขาจะยาวกว่าเส้นเลือดที่แขน ทำให้โอกาสที่เส้นเลือดจะผิดปกติมีมากกว่า
เมื่อเส้นเลือดตีบตันเลือดที่ไปเลี้ยงปลายขาก็จะน้อยลง ถ้าเกิดเป็นแผลแม้จะเป็นเพียงแผลเล็กๆ แต่ถ้าเกิดการติดเชื้อจะทำให้แผลเน่าเร็วขึ้น เพราะเม็ดเลือดขาวไม่สามารถเข้าไปกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้ จึงจำเป็นต้องตัดขาทิ้งเพื่อไม่ให้แผลเน่าลุกลาม แต่ปัจจุบันมีการรักษาแผลเบาหวานที่มีประสิทธิภาพทำให้ไม่จำเป็นต้องตัดขาทิ้ง