เด็กคลอดก่อนกำหนด
ทารกในครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 37 สัปดาห์ ถือว่า เด็กคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจทำให้เด็กเกิดมาพิการหรือมีปัญหาด้านพัฒนาการได้
สาเหตุการคลอดก่อนกำหนด
- ตั้งครรภ์ตอนมีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 34 ปีขึ้นไป มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดมากกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ตอนอายุ 18-34 ปี
- เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด
- มีการขยายตัวของมดลูกมากเกินไป เช่น การตั้งครรภ์แฝด
- สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์
- ความเครียด และการทำงานหนัก หรือการออกกำลังกายอย่างหักโหมมากเกินไป
- คุณแม่มีโรคประจำตัวก่อนตั้งครรภ์ เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ
- คุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ พบได้บ่อยคือภาวะครรภ์เป็นพิษ
- เด็กในครรภ์มีความผิดปกติ อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
ปัญหาเด็กคลอดก่อนกำหนด
ถ้าเด็กยิ่งคลอดก่อนกำหนดมากเท่าใด ปัญหาก็จะยิ่งตามมาเยอะเท่านั้น เนื่องจากอวัยวะต่างๆ ของเด็กยังคงเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ส่วนใหญ่จะมีปัญหาดังต่อไปนี้
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก เนื่องจากระบบทางเดินหายใจและปอดของเด็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ มีอาการหายใจที่ไม่สม่ำเสมอ และหายใจเสียงดังได้
- ปัญหาด้านการมองเห็น เนื่องจากการเจริญเติบโตที่ไม่สมบูรณ์ของเส้นเลือดจอประสาทตา จึงมีความเปราะบางและแตกได้ง่าย ดังนั้นเด็กที่คลอดก่อนกำหนดที่อายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์ หรือน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม จำเป็นต้องได้รับการตรวจตาก่อนออกจากโรงพยาบาล และเด็กอายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ หรือน้ำหนักตัวมากกว่า 1,500 กรัม แต่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เด็กเหล่านี้ก็จำเป็นต้องตรวจตาด้วยเช่นกัน
- ปัญหาการได้ยิน เด็กคลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงสูงต่อการสูญเสียการได้ยิน จึงต้องได้รับการตรวจสอบการได้ยินจากแพทย์ก่อนออกจากโรงพยาบาล
- การติดเชื้อ เด็กคลอดก่อนกำหนดจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายในช่วงขวบปีแรก เนื่องจากกลไกการป้องกันการติดเชื้อยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์เต็มที่
- พัฒนาการช้า เด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กปกติ ซึ่งอาจพบได้ในช่วง 2 ปีแรก หลังจากนั้นจะมีพัฒนาการเทียบเทียมกับเด็กปกติได้
การรักษาอาการคลอดก่อนกำหนด
- ต้องดูว่าปากมดลูกเปิดมากน้อยขนาดใหน ถ้าปากมดลูกเปิดกว้าง น้ำเดินแล้ว อาจจำเป็นต้องทำคลอด
- ถ้าไม่เจ็บครรภ์คลอดมากสามารถมีอายุครรภ์ต่อไปได้อีก
- ปากมดลูกไม่เปิดแต่มีการเจ็บครรภ์คลอด แพทย์จะให้ยายับยังการบีบตัวของมดลูก ร่วมกับยากระตุ้นการทำงานของปอดเด็ก และยาปฏิชีวนะ
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญดูแลตั้งแต่วินาทีแรกที่ออกจากครรรภ์มารดา ต้องใส่ท่อช่วยหายใจทันทีตั้งแต่ในห้องคลอด เด็กกลุ่มนี้จะทานนมไม่ได้เพราะลำไส้ยังพัฒนาไม่เต็มที่ ต้องได้รับสารอาหารพิเศษทางหลอดเลือด
การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
1. เมื่อตั้งครรภ์ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อฝากครรภ์และปฏิบัติตนตามที่ได้รับคำแนะนำ รวมถึงไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งอย่างสม่ำเสมอ
2. รักษาอาการการติดเชื้อ หรืออาการอักเสบต่างๆ เช่น เหงือกอักเสบ ฟันผุ ติดเชื้อในช่องคลอด ติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ มีอาการไอ เจ็บคอ ท้องเสีย ซึ่งอาการติดเชื้อเหล่านี้อาจเป็นเหตุทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
3. ระวังเรื่องน้ำหนักตัว น้ำหนักตัวของคุณแม่ในระหว่างการตั้งครรภ์ที่เพิ่มมากเกินไป หรือน้อนเกินไป อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้คุณแม่คลอดลูกก่อนกำหนดได้ ซึ่งน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ที่เหมาะสมเฉลี่ยอยู่ที่ 11.3-15.8 กิโลกรัม
4. ในขณะตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ งดสูบบุหรี่และแอลกอฮอล์ ไม่เครียด ลดการทำงานหนัก และการออกกำลังกายเป็นเวลานานๆ
5. ทำการเย็บปากมดลูก หรือการใส่ห่วงครอบปากมดลูก
6. การให้ยาโปรเจสโตเจน
รู้หรือไม่?
- การมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ของคุณแม่ที่เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน อาจทำให้มดลูดบีบตัว เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้
- การคลอดก่อนอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ถือว่าแท้งบุตร
- ระยะเวลาตั้งครรภ์ปกติอยู่ที่ 40 สัปดาห์
- ช่วงใกล้คลอดควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์
- ทารกที่คลอดขณะอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ขึ้นไป ถือว่าปกติ
การนับลูกดิ้นเพื่อตรวจสุขภาพทารกในครรภ์