อาการเจ็บคอหรือคออักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ และส่วนน้อยเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งการอักเสบที่เกิดขึ้นอาจเป็นแบบเฉียบพลัน 3-7 วัน หรืออาจมีอาการเรื้อรังนาน 2-3 สัปดาห์
เมื่อมีอาการเจ็บคอ ควรดูแลรักษาตามอาการไปก่อน การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อนั้น จะใช้ก็ต่อเมื่อเป็นโรคคออักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น หากเรารักษาไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงกับโรค อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
อาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อไวรัส
- มักมีอาการเจ็บแสบ หรือรู้สึกระคายเคืองในลำคอ โดยเฉพาะเวลากลืนหรือพูดจะมีอาการมากขึ้น
- ภายในลำคอแดง คอแห้ง เสียงแหบ หรือมีอาการปวดร้าวไปที่หู
- เยื่อบุตาอักเสบแดง มีน้ำมูกใสๆ คัดจมูก มีเสมหะ ไอ จาม
- อาจมีไข้ต่ำๆ ถ้าเป็นหวัดธรรมดา หรือบางคนอาจมีไข้สูงได้ถ้าป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่
- รู้สึกเบื่ออาหาร มีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตามตัว ปวดหัว หนาวสั่น
- อาจมีผื่นขึ้นตามตัวได้
- เชื้อไวรัสบางชนิดอาจจะทำให้เกิดแผลร้อนในภายในปากหรือริมฝีปากได้
- ถ้าผู้ป่วยเป็นเด็กจะมีอาการท้องร่วงร่วมด้วย
เจ็บคอ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
- มีไข้ หนาวสั่น
- ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน
- อาจมีอาการปวดท้องในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก
- ภายในลำคอจะแดง มีจุดหนองหรือแผ่นสีขาวให้เห็น
- ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอบวม กดแล้วเจ็บ
- ต่อมทอมซิลโต
ในระยะแรกๆ จะมีอาการไม่ต่างกัน จำเป็นต้องสังเกตุอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ถ้าติดเชื้อไวรัสจะมีน้ำมูกใสๆ ร่วมด้วย ไอจามนิดหน่อย แต่ถ้าติดเชื้อแบคทีเรีย คออาจมีจุดหนองได้ หรือคอแดงจัดมาก
ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่คออักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มักทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น
- การติดเชื้อในหู หรือชั้นกลางอักเสบ
- ไซนัสอักเสบ
- เกิดฝีหนองบริเวณด้านหลังภายในลำคอหรือบริเวณใกล้ๆ กับทอมซิล
- ไข้ออกผื่นในเด็ก หรือไข้อีดำอีแดง
- ลิ้นหัวใจหัวใจอักเสบ
ถ้ามีภาวะการเกิดฝีหนองขึ้น จะทำให้มีอาการเจ็บคออย่างรุนแรง น้ำลายไหล กลืนลำบาก และหายใจลำบาก หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคคออักเสบ
- เกิดการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอที่พบได้บ่อยที่สุด เช่น โรคไข้หวัด โรคคออักเสบ
- ติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคต่อมทอมซิลอักเสบ เป็นหนอง และโรคคอตีบ เป็นต้น
- เกิดจากกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง
- การใช้เสียงมากเกินไป
- การสัมผัสกับสิ่งระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่น สารเคมี เป็นต้น
- เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย
- เป็นโรคภูมิแพ้
- บางรายอาจเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ เช่น เป็นโรคไซนัสบ่อยๆ
- สูบบุหรี่จัดหรืออยู่ใกล้กับคนที่สูบบุหรี่
- เกิดเนื้องอกที่บริเวณลำคอ ลิ้น หรือกล่องเสียง
- อากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในฤดูหนาวหรือในฤดูฝน จะทำให้เกิดโรคคออักเสบได้ง่าย
การวินัจฉัย
- แพทย์จะดูอาการที่เกิดขึ้นภายในลำคอ ปาก จมูก และรูหูก่อน
- ถ้ายังไม่สามารถรู้สาเหตุได้อย่างแน่ชัด แพทย์จะนำตัวอย่างของเหลวไปตรวจหาเชื้อที่ห้องปฏิบัติการ จะใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน
- การตรวจเลือด ถ้าหากแพทย์สันนิษฐานว่าผู้ป่วยเป็นคออักเสบจากสาเหตุอื่นๆ นอกเหนือจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
การรักษา
โดยส่วนใหญ่แล้ว โรคคออักเสบสามารถหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งเราสามารถบรรเทาอาการเจ็บคอได้ด้วยการดื่มน้ำอุ่นมากๆ หรือดื่มน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งและมะนาว การอมลูกอม และการทานยาลดไข้
การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส
การรักษาผู้ป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่แบคทีเรีย จะรักษาดูแลตามอาการจนกว่าภูมิคุ้มกันของร่างกายจะแข็งแรง และสามารถกำจัดเชื้อได้หมด ดังนี้
- ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาความเจ็บหรือลดอาการไข้
- บ้วนปาก ล้างคอด้วยน้ำเกลือ
- ดื่มน้ำอุ่นๆ ทานอาหารอ่อนๆ
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และลดละการสูบบุหรี่
การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรีย
- แพทย์จะพิจารณาการจ่ายยาปฏิชีวินะเพื่อฆ่าเชื้อและรักษาตามอาการ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- ต้องทานยาให้ครบตามที่แพทย์กำหนดประมาณ 7-10 วัน และไม่ควรหยุดยาเมื่อมีอาการดีขึ้น เพราะจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระยะยาวได้
- หากมีปัญหาแพ้ยา ต้องปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด
จะใช้ยาฆ่าเชื้อเมื่อเข้าข่าย 3-4 ข้อนี้
- มีไข้ วัดอุณหภูมิได้ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- มีฝ้าขาวที่ต่อมทอนซิล
- คลำพบต่อมน้ำแหลืองพองโตบริเวณลำคอ และกดเจ็บ
- ไม่มีอาการไอ
การป้องกันโรคคออักเสบ
- หมั่นรักษาความสะอาดด้วยการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนทานอาหาร หรือหลังการสัมผัสเชื้อที่มาจากการไอ จาม หรือน้ำมูกจากการดูแลผู้ป่วย
- แยกภาชณะที่ใช้ดื่มน้ำและทานอาหาร
- ถ้าเป็นเด็กเล็กป่วย ควรจะล้างทำความสะอาดของเล่นด้วยน้ำสบู่ เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำบ่อยๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด
- สำหรับคนที่ชอบออกกำลังกายมาก ควรงดในระยะที่มีอาการ
- เด็กควรหลีกเลี่ยงการไปเยี่ยมผู้ป่วย
ยาอมแก้เจ็บคอ
ยาอมมีหลายชนิด ทั้งที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน และกลุ่มที่เป็นยาอันตราย ซึ่งจะมีคำอธิบายอยู่ในฉลากยา ชื่อยา สรรพคุณและวิธีใช้
ยาอมที่อมแล้วรู้สึกดีขึ้นเป็นเพราะมียาชาผสมอยู่ ทำให้เรารู้สึกสบายโล่งคอสักระยะหนึ่ง พอหมดฤทธิ์ยาอาการก็จะกลับมาเป็นอีก
ยาอมบางตัวมีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะในปริมาณน้อย ซึ่งอาจทำให้เกิดการดื้อยามากขึ้น เพราะปริมาณที่น้อยไม่ใช่ปริมาณที่ใช้ในการรักษา
เพราะฉะนั้นก่อนซื้อยาอม ควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดว่ามียาปฏิชีวนะผสมอยู่หรือไม่ ถ้ามีก็ควรหลีกเลี่ยงยาอมชนิดนั้นๆ เพราะจะทำให้เกิดการดื้อยาได้
การดูแลรักษาตัวเองเมื่อมีอาการเจ็บคอ
- ดื่มน้ำผึ้งผสมน้ำมะนาวอุ่นๆ จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอและทำให้ชุ่มคอ
- ไม่ทานอาหารที่เย็นจัด เช่น ไอศกรีม หรือเครื่องดื่มที่มีความเย็นมากจนเกินไป
- ทานอาหารอ่อนๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ดหรือรสจัด และอาหารที่ปรุงด้วยการผัดหรือการทอด
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
- ไม่ควรใช้เสียงมากเกินไป เช่น ตะโกน หรือการร้องเพลง
- กลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ โดยผสมเกลือ 1 ช้อนชา กับน้ำอุ่น 1 แก้ว จะช่วยให้คอชุ่มชื้นและลดอาการเจ็บระคายคอลงได้
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 แก้ว เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับลำคอ
- อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี เลี่ยงสถานที่มีฝุ่น ควัน สิ่งระคายเคือง เพื่อลดอาการระคายคอ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ถ้าดูแลตัวเองไปสักพักแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร ต้องรักษาอย่างไร และที่สำคัญก็คือ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมาทานเอง
รู้หรือไม่?
- โรคคออักเสบจากแบคทีเรีย สามารถทำให้เกิดเป็นโรคหนองในแท้ หนองในเทียม ไอกรน และโรคคอตีบได้
- ยาฆ่าเชื้อไม่ใช่ยาแก้อักเสบ
- อาการเจ็บคอ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อเสมอไป
- จะใช้ยาปฏิชีวนะก็ต่อเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่า ติดเชื้อแบคทีเรียแล้วเท่านั้น