อีสุกอีใส
อีสุกอีใส (chickenpox) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา(Varicella virus) สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย มีระยะฟักตัวประมาณ 10-21 วัน คนไข้จะสามารถแพร่เชื้อโรคได้ ตั้งแต่ก่อนที่จะมีอาการ 2 วัน จนถึงมีตุ่มน้ำแตกกลายเป็นสะเก็ด
เป็นโรคติดต่อผ่านทางลมหายใจ ไอ จาม การสัมผัสกับผู้ป่วยหรือใช้ของร่วมกัน มักจะระบาดในปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน พบมากในเด็กวัย 5-9 ปี
อาการโรคอีสุกอีใส เป็นกี่วันหาย?
- ระยะไข้ ประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากที่ได้รับเชื้อ จะมีไข้ประมาณ 1-2 วัน ไม่ว่าจะเป็นไข้สูงหรือต่ำ มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ
- ระยะผื่นขึ้น ผื่นจะขึ้นเป็นผื่นแดงๆ ลักษณะเป็นผื่นแดงเม็ดเล็กๆ แต่จะไม่มีอาการรุนแรงอะไร เว้นแต่มีอาการคันมาก 1 วัน
- ระยะพองตุ่มใส ในระยะนี้ตุ่มจะค่อยๆใสและเยอะขึ้นเรื่อยๆ ภายใน 3-5 วัน จะขึ้นตรงบริเวณลำตัวก่อน ลามไปที่คอ สามารถขึ้นที่หน้า ศีรษะ แขนขา และลามไปได้ทั้งตัว หรือแม้แต่เยื่อบุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเยื่อบุในช่องปาก ลำคอ หรือเยื่อบุตา ตุ่มอาจเป็นหนองเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย
- ระยะตุ่มแห้ง ตกสะเก็ดภายใน 1-3 วัน และสะเก็ดแผลก็จะค่อยๆ ลอกจางหายกลับเป็นปกติภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์
วิธีรักษา อีสุกอีใส
- ถ้ามีอาการไข้ให้เช็ดตัว กินยาลดไข้พาราเซตามอล แต่อย่ากินยาแอสไพรินเพราะอาจมีอาการแพ้ยาได้ โดยเฉพาะในเด็ก
- ทายาแก้คัน เช่น คารามาย หรือกินยาบรรเทาอาการคัน โดยปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยากินเองเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา 2ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ 3ตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันการเกา ซึ่จะทำให้แผลเกิดการติดเชื้อได้ง่าย
- ใช้น้ำเกลือเช็ดแผลเพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น
- ใช้สบู่ยาในการฟอกตัวอาบน้ำเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่บริเวณผิวหนัง
- ผู้ใหญ่หรือเด็กที่อายุเกิน 12 ปีขึ้นไปและเด็กทารก จะใช้ยาต้านไวรัสในการรักษาร่วมด้วย เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้สามารถเกิดโรคแทรกซ้อนได้บ่อย
- ถ้าผู้ใหญ่เป็นอีสุกอีใส ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะมียากินทำให้ลดจำนวนตุ่มได้ ถ้าเรากินเร็วทันเวลาจะทำให้หายเร็ว แต่ถ้าเป็นในเด็กไม่จำเป็นต้องกินยา ปล่อยให้เด็กได้สร้างภูมิคุ้มกัน
- ถ้าเกิดมีอาการเหมือนแน่นหน้าอก หายใจเร็ว ไข้ไม่ลด ปวดศีรษะ ตุ่มเป็นหนอง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล เพราะอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ภาวะปอดอักเสบ สมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือดได้
แผลเป็น อีสุกอีใส รักษาอย่างไร?
แผลเป็นเกิดจากการที่เราไปแกะเกาแผล ทางที่ดีที่สุดคือไม่ควรไปเกาหรือแกะแผล แต่ถ้าเราติดเชื้อเป็นหนองแล้วสามารถทานยาปฏิชีวนะ จะทำให้แผลตกสะเก็ดหลุดหายไปได้เอง
แต่กรณีที่เป็นแผลลึกแล้ว อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป เพราะอาจต้องเลาะพังผืดตรงแผล เพราะแผลจะกลายเป็นแผลบุ๋มลงไป และอาจใช้แสงเลเซอร์ช่วยยิง ทำให้หลุมตรงนั้นตื้นขึ้นมาได้
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส
วัคซีนสามารถป้องกันได้ผลกว่า 90-95 % ฉีดแล้วมีโอกาสเป็นได้อีกประมาณ 2-10 เปอร์เซ็นต์ แต่จะเป็นไม่นานก็หาย อาการจะไม่รุนแรง
เริ่มฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป แต่ต้องมีการกระตุ้นอีกเข็มเมื่ออายุ 4-6 ปี แต่ในผู้ใหญ่หรือเด็กโตแล้ว แนะนำให้ฉีด 2 เข็มติดต่อกันเลย โดยเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกันประมาณ 4-8 สัปดาห์
เมื่อฉีดครบสองเข็มสามารถป้องกันโรคได้ยาวนานถึง 20 ปี แต่เนื่องจากวัคซีนมีราคาค่อนข้างสูง ทางสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยแนะนำว่า
- เด็กไทยอายุต่ำกว่า 10 ปี ปล่อยให้เป็นโดยธรรมชาติ
- กลุ่มเด็กอายุ 10-13 ปี หากไม่ต้องการให้เป็นอีสุกอีใสก็สามารถฉีดวัคซีนได้ 1 เข็ม
- เด็กอายุหลัง 13 ปี ถ้าจะป้องกันให้ฉีดวัคซีน 2 เข็ม เช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่
- คนที่เคยเป็นอีสุกอีใสแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอีก
ผู้ที่ห้ามฉีดวัคซีนอีสุกอีใส
- ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ต่างๆ ควรต้องปรึกษาแพทย์เพราะอาจแพ้วัคซีนได้
- ผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เพราะอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง และโรคเรื้อรังต่างๆ คนที่กินยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค และคนท้อง ซึ่งอาจทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อและพิการได้
- ผู้ที่เคยแพ้วัคซีนต่างๆ หรือแพ้วัคซีนอีสุกอีใสเข็มแรกแล้ว
เคยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้วจะเป็นอีกใหม?
อีสุกอีใสเป็นแล้วก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก แต่อาการจะไม่รุนแรงเหมือนครั้งแรก เพราะเชื้อไวรัสดังกล่าว จะฝังตัวอยู่ในร่างกายของเราตลอดชีวิต
ถึงแม้อาการของโรคอีสุกอีใสจะหายไปแล้วก็ตาม พอเวลาเราเครียด อดนอน ไวรัสจะจู่โจมทำให้เกิดตุ่มพองใสอย่างอื่น เราเรียกว่า “งูสวัด”
เด็กบางคนที่มีโรคประจำตัว ต้องกินยากดภูมิ หรือมีภูมิคุ้มกันบกพล่อง ในกรณีนี้เด็กสามารถเป็นซ้ำครั้งที่สองได้ แต่อาการมักจะไม่รุนแรงเหมือนครั้งแรก
คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระวัง โรคอีสุกอีใส
สิ่งที่อันตรายที่สุดของโรคอีสุกอีใส ที่เราต้องระมัดระวังคือ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะเชื้อโรคติดต่อทางลมหายใจ ไอ จาม ถ้าคุณแม่ได้รับเชื้อเข้าไป อาจส่งผลถึงลูกในครรภ์ได้ ถ้าลูกในครรภ์ติดเชื้อ อาจทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิดได้