อาหารเป็นพิษ
อาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อราและเชื้อปรสิต รวมถึงสารเคมีและพืชที่มีพิษ
อาหารเป็นพิษอาจพบได้ในอาหารที่ปรุงไม่สุก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ อาหารทะเล หรืออาหารสดที่เราทิ้งไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงนานเกินไป อาหารที่ค้างมื้อที่ไม่ได้แช่เย็น หรือไม่อุ่นให้ร้อนอย่างทั่วถึงก่อนรับประทาน การปรุงอาหารไม่ถูกสุขอนามัย
อาหารเป็นพิษมีอาการอย่างไร?
ส่วนใหญ่อาการจะเกิดขึ้นภายหลังรับประทานอาหาร 6 ถึง 24 ชั่วโมง จะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลวหรือเป็นน้ำ อาจมีไข้หรืออาการอื่นร่วมด้วย
อาการจะปรากฏช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของเชื้อโรค ซึ่งระยะฟักตัวสั้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากได้รับพิษ ไปจนถึงประเภทที่มีระยะฟักตัวนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน แต่โดยทั่วไปจะแสดงอาการภายใน 2-6 ชั่วโมง หรือ 2-3 วัน
วิธีรักษา
- ดื่มน้ำเปล่าหรือเกลือแร่มากๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
- ไม่ควรงดอาหาร เพื่อให้มีสารอาหารที่จำเป็นไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย แต่ให้ทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำข้าวหรือแกงจืด
- ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น
- หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีมูกเลือด อาเจียนมาก รับประทานอาหารและน้ำไม่ได้ ถ่ายเหลวไม่หยุด มีไข้ หรือมีอาการนานเกิน 3 วัน ควรไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ
วิธีป้องกัน
- กินร้อน คือการกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ รวมถึงไม่กินอาหารสุกๆ ดิบๆ และหากจำเป็นต้องรับประทานอาหารค้างมื้อ ควรอุ่นอาหารให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง
- ช้อนกลาง คือการใช้ช้อนทุกครั้งเมื่อกินอาหารร่วมกับผู้อื่น ช่วยป้องกันโรคที่ติดต่อทางน้ำลาย
- ล้างมือ การล้างมือที่ถูกต้อง คือการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำหรือทำกิจกรรมต่างๆ
- ผู้ประกอบการร้านอาหารให้ยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด ในการประกอบอาหาร ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนก่อนจำหน่าย และใช้วัตถุดิบที่สด ใหม่ รวมถึงมีกระบวนการปรุงอาหารที่สะอาดและถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร
- เลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด
- ล้างผักให้สะอาด ผ่านน้ำหลายๆ รอบหรือใช้ด่างทับทิมร่วมด้วย
- การเก็บภาชนะให้มิดชิด ไม่ให้หนูหรือแมลงเข้าได้ เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนมาสู่ตัวเราได้
รู้หรือไม่?
- โรคอาหารเป็นพิษโดยมากแล้วจะเป็นไม่รุนแรง และสามารถหายได้เองภายใน 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของเชื้อโรค ยกเว้นผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ หรือเกิดขึ้นในเด็กเล็กและผู้สูงวัย ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีภูมิต้านทานต่ำกว่าปกติ
- สาเหตุของการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหาร พบได้ตั้งแต่กระบวนการผลิต อาจมีการใช้สารเคมีเพื่อเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์หรือผัก
- ควรยึดหลักบริโภค กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เป็นพฤติกรรมสุขภาพง่ายๆ ที่สามารถป้องกันและลดการแพร่กระจายเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี
- อาการท้องเสียส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสหรืออาหารเป็นพิษ ไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่ต้องทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือยาปฏิชีวนะ
- ถ้ามีไข้ หรืออุจจาระมีมูกปนเลือด ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
- สิ่งที่เกิดขึ้นในอาการท้องเสียที่ไม่รุนแรง คือ เชื้อโรคจะก่อตัวในลำไส้และสร้างพิษขึ้นมาทำลายเยื่อบุลำไส้เล็กเท่านั้น แต่จะไม่เข้าสู่ในร่างกาย
- ผู้ป่วยมีอาการท้องเสียเนื่องจากเชื้อโรคได้ไปขัดขวางไม่ให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารหรือน้ำ หรือทำให้มีน้ำในลำไส้มากเกินไป ร่างกายของเราจึงจำเป็นต้องขับน้ำออกมาจากระบบย่อยอาหารอย่างรวดเร็ว
- โรคอาหารเป็นพิษ หากเป็นในเด็กและผู้สูงอายุมักจะมีอาการรุนแรง
- สภาพอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้อาหารบูดเสียได้ง่าย เช่น อาหารกล่องที่ปรุ่งเก็บไว้เป็นเวลานาน หรืออาหารค้างมื้อ อาหารจำพวกที่มีกะทิผสม อาหารสุกๆ ดิบๆ น้ำแข็ง เป็นต้น
- การกินส้มตำมีความเสี่ยงเป็นโรคอาหารเป็นพิษ เพราะการปรุงจะใส่วัตถุดิบที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ทั้งปลาร้า ปูดอง ผักสด มะละกอ มะเขือ หากล้างไม่สะอาดจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นพิษและท้องเสียได้ง่าย