วัณโรค (Tuberculosis)
วัณโรค มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) หรือที่เรียกย่อๆว่า TB ชอบอยู่ในที่ที่มีออกซิเจนมากๆ เช่น ปอด เชื้อนี้จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไอติดต่อกันเป็นเวลานานและเกิดแผลในปอดจนทำให้เสียชีวิตได้
อาการวัณโรค
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- มีไข้ต่ำๆ หนาวสั่นและมีเหงื่อออกตอนกลางคืน
- ในระยะแรกจะมีอาการไอแห้งๆ
- ต่อมาจะไอมีเสมหะและจะไอมากในเวลาเข้านอน ตื่นนอนตอนเช้าและหลังอาหาร
- ไอเรื้อรังนานกว่า 3 สัปดาห์ ในรายที่เป็นมากๆจะหอบหรือไอเป็นเลือดก้อนแดงๆหรือเลือดดำๆออกมาด้วย
- เด็กมักมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่เพราะมีภูมิคุ้มกันน้อย
- ในรายที่เป็นน้อยๆผู้ป่วยบางคนอาจจะรู้สึกแน่นหรือเจ็บหน้าอกโดยไม่มีอาการไอ
ควรไปพบแพทย์เมื่อใด?
หากพบว่ามีอาการไอติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่า 2 สัปดาห์ หรือไอมีเสมหะปนเลือด หรืออาศัยอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคหรือเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรง เช่น โรคไต เบาหวาน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ต้องขัง ผู้ติดสารเสพติดชนิดฉีด
หมายเหตุ: เราควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและทำการรักษาก่อนที่อาการจะหนักจนเกินไป
การวินิจฉัย
- ชักประวัติอาการความเจ็บป่วยและการตรวจร่างกายซึ่งสามารถช่วยในการวินิจฉัยได้ในระดับหนึ่ง
- ตรวจหาเชื้อวัณโรคจากเสมหะ โดยตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือจากการนำเสมหะไปเพาะหาเชื้อโดยวิธีย้อมสีร่วมกับผลเอกซเรย์ปอดถึงจะวินิจฉัยอาการของวัณโรคได้อย่างแน่นอนเพื่อดำเนินการรักษาต่อไป
ติดเชื้อวัณโรคได้อย่างไร?
วัณโรคเป็นโรคที่ติดต่อโดยการแพร่กระจายจากผู้ป่วยขณะไอ จาม หรือแม้กระทั่งการพูดคุย โดยเชื้อจะออกมาจากน้ำลายหรือละอองเสมหะและจะลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน
โดยเฉพาะในที่ที่อากาศไม่ถ่ายเทหรือไม่ค่อยมีแสงส่องถึง เช่น ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนต์ ในเครื่องบิน ในรถประจำทาง เมื่อเราหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าไปก็จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้
ถ้าเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง ร่างกายจะสามารถควบคุมเชื้อวัณโรคไว้ได้ด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น เด็ก คนชรา ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบ่องพร่องอย่างเอดส์ ผู้ที่ติดยาเสพติดหรือสุรา ก็จะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้สูง เมื่อได้รับเชื้อเข้าไป อย่างไรก็ตาม เชื้อแบคทีเรียวัณโรคจะตายเมื่อโดนแสงอุลตร้าไวโอเล็ต รวมทั้งแสงแดดด้วย
การติดเชื้อวัณโรคมี 2 ระยะ
การติดเชื้อวัณโรคในระยะสงบ
หมายถึง การที่คนคนหนึ่งมีเชื้อวัณโรคอยู่ในตัว แต่ไม่เกิดโรคและไม่มีอาการป่วยใดๆ การติดเชื้อในระยะสงบ สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่ติดเชื้อ ยังสามารถควบคุมเชื้อแบคทีเรียได้อยู่ เชื้อแบคทีเรียสามารถอยู่ในร่างกายได้นานหลายปี โดยที่ไม่ทำให้เกิดโรคหรืออาการผิดปกติใดๆ
การติดเชื้อระยะป่วยเป็นโรค
อาจมีการป่วยเป็นโรคขึ้นมาในภายหลังได้ หากภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เชื้อวัณโรคที่อาศัยอยู่ในร่างกายอาจได้รับการกระตุ้น การกระตุ้นก่อให้เกิดวัณโรค และอาการที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี และเชื้อวัณโรคร่วมกันมีแนวโน้มจะป่วยเป็นวัณโรคมากขึ้น สำหรับในบางคน ระยะป่วยเป็นโรคอาจเกิดขึ้นได้ภายหลังติดเชื้อวัณโรคเพียงไม่กี่สัปดาห์
รู้หรือไม่?
- โรคที่มีอาการเหมือนกับโรควัณโรค คือ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ โรคปอดในผู้สูบบุหรี่ และมะเร็งปอด หากสงสัยว่าเป็นวัณโรค ต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อที่จะยืนยันว่าไม่ได้เป็นโรคอื่น
- องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ที่ติดเชื้อวัณโรค จะกลายเป็นโรคขึ้นมาได้ในช่วงระยะใดระยะหนึ่งของชีวิต (แต่ทั้งนี้ต้องเป็นผู้ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย)
การรักษา และ การดูแลผู้ป่วยวัณโรค