ยาฝังคุมกำเนิด
ยาฝังคุมกำเนิด หรือ การฝังเข็ม คุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราวกึ่งถาวร โดยการฝังแท่งเข็มพลาสติกเล็กๆ ที่มีฮอร์โมนอยู่ภายในเข้าไปใต้แขน ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพและดีที่สุด
ภายในแท่งพลาสติกนั้น จะมีการบรรจุยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะต่างกับยาเม็ดคุมกำเนิดแบบทานที่มีฮอร์โมน 2 ชนิด คือ เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน
คุมกำเนิดได้กี่ปี ?
- สามารถคุมกำเนิดได้นาน 3 ปี โดยการฝังยา 1 แท่ง เรียกว่า อิมพลานอน (Implanon) ซึ่งเป็นฮอร์โมน Etonogestrel 68 มิลลิกรัม โดยจะปล่อยฮอร์โมนออกมาวันละ 70-60 ไมโครกรัม
- และสามารถคุมกำเนิดได้นาน 5 ปี ถ้าทำการฝังยา 2 แท่ง เรียกว่า จาเดลล์ (Jadelle) ซึ่งเป็นฮอร์โมน Levonorgestrel 75 มิลลิกรัม โดยจะปล่อยฮอร์โมนออกมาวันละ 100-40 ไมโครกรัม
กลไกการออกฤทธิ์ของยาฝังคุมกำเนิด
- ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดในปริมาณที่น้อย เพื่อไปยับยังการเจริญเติบโตของไข่ ส่งผลทำให้ไข่ไม่ตก จึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
- ฮอร์โมนโปรเจสตินที่ปล่อยออกมา จะทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ทำให้อสุจิวิ่งผ่านเข้าไปยาก
- ลดการทำงานของเยื่อบุโพรงมดลูก
ขั้นตอนการฝังยา
- ชักประวัติ ตรวจร่างกาย
- เลือกแขนข้างที่ไม่ถนัด เพื่อลดการรบกวนเวลาใช้งานแขนบ่อยๆ
- แพทย์จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดผิวหนัง
- ทำการฉีดยาชาที่บริเวณใต้ท้องแขนด้านใน
- เปิดแผลกว้าง 0.3 เซนติเมตร ที่ท้องแขน
- ใส่เครื่องที่เป็นแท่งเข็มนำหลอดยาเข้าไปข้างใน แล้วสอดยาเข้าไปในรูเข็ม
- เมื่อฝังหลอดยาเข้าภายในร่างกายแล้ว จึงถอดเครื่องนำหลอดยาออก
- ปิดแผลด้วยปลาสเตอร์ แล้วใช้ผ้าพันแผลพันทับอีกที เพื่อลดการบวมช้ำ โดยจะพันแผลทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง
เมื่อนำผ้าพันแผลออก อาจมีรอยฟกช้ำและมีอาการเจ็บแขนบริเวณที่ฝังยาเล็กน้อย ประมาณ 1 สัปดาห์ อาการต่างๆ ก็จะหายเป็นปกติ
ในระยะ 1 สัปดาห์แรก ห้ามให้แผลถูกน้ำ และแพทย์จะทำการนัดตรวจดูบาดแผลอีกครั้ง ภายใน 1 สัปดาห์
ขั้นตอนการถอดยา
- แพทย์จะทำการฉีดยาชา บริเวณด้านใต้ส่วนปลายของแท่งฮอร์โมน
- ในขั้นตอนนี้ แพทย์จะเปิดแผลใหญ่กว่าขั้นตอนการฝังเล็กน้อย เพื่อใช้อุปกรณ์ดึงเอาแท่งฮอร์โมนออกมา
- อาจจำเป็นต้องเย็บแผล 1 เข็ม หรือแผลอาจหายเองได้โดยไม่ต้องเย็บ
วิธีนี้เหมาะกับใคร?
- เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดนาน 3-5 ปี
- ผู้ที่ชอบลืมกินยาคุม หรือลืมไปฉีดยาคุม
- สตรีที่ไม่สามารถใช้ยาเอสโตรเจนได้ หรือมีอาการแพ้ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด ที่ทานแล้วรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ
- คุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรหลังคลอด
- ผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนมาก การฝังยาจะช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้
วิธีนี้ไม่เหมาะกับใคร?
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ มะเร็งเต้านม ไมเกรน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลมชัก โรคถุงน้ำดี และโรคหลอดเลือดสมอง
- คนที่มีความผิดปกติของเลือด มีเลือดออกง่ายแต่หยุดยาก
- ผู้ที่สงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์
ข้อดีของการฝังเข็มคุมกำเนิด
- สะดวกสบาย สามารถทำได้ที่โรงพยาบรัฐทุกแห่ง
- ออกฤทธิ์ในการคุมกำเนิดได้ 3-5 ปี
- ลดโอกาสการลืมกินยาคุม และฉีดยาคุม
- ลดอาการแพ้ยาคุม เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน
- มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง และดีที่สุด
- มีผลป้องกันการตั้งครรภ์ภายใน 24 ชั่วโมงหลังฝังยา
ผลข้างเคียงของยาฝังคุมกำเนิด
- อาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอย
- ประจำเดือนอาจไม่มาเลย ซึ่งจะแก้ด้วยวิธีทานยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน 0.05 มิลลิกรัม วันละ 1 เม็ด ติดต่อกัน 7-10 วัน เพื่อทำให้ประจำเดือนมา และช่วยลดอาการเลือดมากระปิดกระปอย
- อาจมีอาการระคายเคือง ปวด หรือมีอาการแดงเล็กน้อยบริเวณที่ฝังเข็ม แต่จะหายเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์
- บางคนอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นสิว ปวดศีรษะ เจ็บเต้านม และมีอารมณ์แปรปรวน
อาการที่ต้องมาพบแพทย์ก่อนเวลานัด
- ปวดบริเวณเข็มที่ฝัง หลังฝังยาคุมกำเนิดไปแล้ว 1 สัปดาห์ แล้วแผลยังบวม แดง ร้อน อักเสบ หรือมีหนองไหลออกมา ให้รับไปพบแพทย์ เพราะอาจมีการติดเชื้อ
- มีอาการปวดศีรษะมากกว่าปกติ
- มีประจำเดือนกะปริดกะปรอย
รู้หรือไม่?
- แท่งพลาสติกที่บรรจุยาฮอร์โมนโปรเจสโตโรน มีขนาดเล็กเท่าไม้ขีดไฟ และมีลักษณะอ่อนนิ่ม
- การฝังยาจะไม่ฝังลึกจนเกินไป สามารถเอ็กซเรย์ และอัลตร้าซาวน์ให้เห็นได้ชัดเจน
- โรงพยาบาลรัฐ ร้บฝังยาคุมกำเนิดฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย สำหรับวัยรุ่นหญิงอายุ 10-20 ปี
- ประจำเดือนจะมาปกติภายใน 1 – 2 เดือน หลังจากที่ได้ถอดยาออกไปแล้ว และจะเริ่มมีไข่ตกภายใน 1 – 3 เดือน และสามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ