มะเร็งปอด
มะเร็งปอด (Lung cancer) คือเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นที่ปอด ถ้าปอดได้รับสารพิษ ควันบุหรี่ หรือสารก่อมะเร็ง เนื้อปอดก็จะเกิดเป็นก้อนมะเร็ง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ปอดจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ และจะลุกลามไปตามเส้นเลือด หรือต่อมน้ำเหลือง ทำให้แพร่กระจายต่อไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้
มะเร็งปอดมี 4 ระยะ
- ระยะแรก จะมีลักษณะเป็นก้อนเล็กกว่า 3 เซ็นติเมตร
- ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งจะโตขึ้น และลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปที่เยื่อหุ้มผนังปอด หรือเข้าไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่ทรวงอก ถ้าเป็นมาก อาจเป็นเฉพาะที่ เช่น มีน้ำในปอด หรือกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณอื่นของร่างกาย
- ระยะสุดท้าย มะเร็งแพร่กระจายไปทุกส่วนของร่างกาย
สาเหตุ
- การสูบบุหรี่ เพราะ 80 เปอร์เซ็นต์ของโรคมะเร็งปอดนั้นเกิดจากการสูบบุหรี่
- แร่เรดอน ซึ่งอยู่ในพื้นดิน เมื่ออากาศร้อนแร่นี้ก็จะระเหยออกมา ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดรองจากการสูบบุหรี่
- แร่ลิกในต์ โดยจะมีอยู่มากในเหมืองแร่
- สารเคมีต่างๆ หรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ เช่น ควันรถ หรือเขม่าควันต่างๆ ถ้าร่างกายได้รับเข้าไปมากๆ ก็จะส่งผลให้เป็นโรคนี้ได้
- แร่ใยหิน มีโอกาสทำให้ปอดและเยื่อหุ้มปอดเป็นมะเร็ง
- สารโลหะโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานที่เกี่ยวกับโลหะชนิดต่างๆ
- กรรมพันธุ์ แต่สาเหตุจากรรมพันธุ์นี้จะมีผลน้อยมาก
อาการ
- มีอาการไอเรื้อรัง ไอต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3-4 สัปดาห์
- น้ำหนักลด
- มีอาการเจ็บหน้าอก
- บางรายอาจมีอาการหน้าบวมหรือแดง เมื่อมีการไอแรงๆ
- อาจมีอาการเสียงแหบได้
- เหนื่อยง่าย เช่น ทำงานตามชีวิตประจำวันปกติแล้วรู้สึกมีอาการเหนื่อยผิดปกติ
- ไอเป็นเลือด ถ้าไอเป็นเลือดต้องรีบไปพบแพทย์
การวินิจฉัย
- การวินิจฉัย จะขึ้นกับอาการของผู้ป่วย ถ้าไอเป็นเลือด จะนำเอาเสมหะไปตรวจ
- เอ็กซ์เรย์ปอด แต่การตรวจด้วยการเอ็กซ์เรย์ปอดธรรมดา ถ้าเป็นน้อยๆ จะตรวจไม่พบ การตรวจเอ็กซ์เรย์ปอดที่ดีที่สุด คือ การตรวจเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ จะเห็นก้อนมะเร็งได้ชัดและแม่นยำกว่าการเอ็กซ์เรย์ธรรมดา
- ถ้ามีปัญหาน้ำในปอด แพทย์จะเจาะน้ำในปอดเพื่อนำมาตรวจ
- ถ้ามีก้อนเนื้อในปอด หรือบริเวณใกล้เคียง จะใช้การส่องกล้อง เพื่อไปเจาะเอาชิ้นเนื้อมาตรวจ จะใช้เวลาในการทราบผลประมาณ 2 วัน
การรักษามะเร็งปอด
การรักษาจะแบ่งตามขั้นตอนขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง ถ้าเป็นระยะเริ่มแรก สามารถรักษาให้หายขาดได้ถึง 80% โดยการรักษาด้วยการผ่าตัดสส่องกล้อง
แต่ถ้าเป็นระยะที่ 3 ซึ่งมีการกระจายในต่อมน้ำเหลืองแล้ว จะใช้ ยาเคมีบำบัด หรือการฉายแสงช่วยในการรักษา
ในระยะที่ 4 ถ้าผู้ป่วยสามารถรับยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสงได้ ก็จะรักษาด้วยวิธีนี้ต่อไป เพื่อช่วยยืดชีวิตได้ ที่สำคัญผู้ป่วยควรปรับตัวเองให้เข้มแข็ง และคนรอบข้างต้องคอยให้กำลังใจช่วย
วิธีป้องกัน
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
- ตรวจเอ็กซเรย์ปอดด้วยคอมพิวเตอร์ (CT-Scan)
- หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ และงดสูบบุหรี่จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
รู้หรือไม่?
- การสูบบุหรี่เกิน 20 ซองต่อปี มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอด โดยเฉพาะผู้ชายที่สูบบุหรี่จะสามารถถ่ายทอดพันธุกรรมให้ลูกที่เกิดมา มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งจอตาได้ด้วย
- คนที่อยู่ตึกสูง จะเป็นมะเร็งปอดได้น้อยกว่าคนที่อยู่ชั้นล่าง เพราะอากาศเป็นพิษนั้นหนัก ทำให้ลอยขึ้นไปไม่ถึง ถ้าเราอยู่เกินชั้น 8 ขึ้นไป สารพิษก็จะลดน้อยลง
- งานวิจัยพบว่า ยาช่วยเลิกบุหรี่ได้แค่ 30 เปอร์เซ็นต์ อีก 70 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องของจิตใจล้วนๆ
- บุหรี่ไฟฟ้า เป็นไอระเหยใช้กับคนไข้ที่ติดบุหรี่เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการสูบบุหรี่จริง ซึ่งควันบุหรี่ที่ออกมาจะเป็นแค่ละอองไอ ไม่ใช่ละอองจากการเผาไหม้ ทำให้มีความปลอดภัยมากกว่า แต่บุหรี่ไฟฟ้าก็มีข้อเสียคือ สูบเข้าไปแล้วทำให้ปอดชื้น
- ผู้ชายที่สุบบุหรี่จะมีคุณภาพของอสุจิที่ต่ำ และอาจเป็นหมันได้
- คนที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ไปนั่งอยู่ในกลุ่มผู้ที่สูบบุหรี่ ถือว่าได้สูบบุหรี่ด้วยจากการสูดดมควัน
- ผู้ที่ทำงานในเหมืองแร่ มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้
- มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย
ไปป์ บารากุ สารก่อมะเร็ง
ไปป์, บารากุ, ซิก้า เมื่อได้สูบสิ่งเหล่านี้ จะทำให้ได้รับสารก่อมะเร็งจากการเผาไหม้ จึงก่อให้เกิดมะเร็งปอด
โดยเฉพาะบารากุที่กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่น ซึ่งมีใบยาสูบเยอะมากรวมอยู่ในโถ เมื่อเกิดการเผาไหม้จึงมีควันออกมา เหมือนการเอาบุหรี่หลายๆตัวมารวมกันแล้วจุดทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นบารากุชนิดใหน ก็มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเหมือนกัน
โทษของการสูบบุหรี่ แลวิธีเลิกสูบบุหรี่ที่ได้ผล