ปวดคอเรื้อรัง
อาการ ” ปวดคอเรื้อรัง ” เกิดจากหมอนรองกระดูกคอเสื่อม หรือกล้ามเนื้อคออักเสบบริเวณสะบักและต้นคอ เนื่องจากการนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ บางทีปวดศีรษะ หรือปวดร้าวลงแขน และมีอาการมือชาได้
สาเหตุที่ทำให้ปวดคอ
- การให้คออยู่ในท่าเดียวนานๆ การถูกกระแทกเอ็นคอ การเคลื่อนไหวเร็วหรือรุนแรงเกินไป ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อบางส่วนฉีกขาด จนเกิดอาการปวด เคล็ดขัดยอก
- หมอนรองกระดูกคอเสื่อม เนื่องจากใช้งานมานานหรือใช้งานหนัก
- เกิดจากโรคท่อไขสันหลังตีบ ซึ่งนอกจากจะปวดต้นคอแล้ว ยังมีอาการชามือ เวลาเดินเร็วจะปวดขา และไม่สามารถทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดได้
- สาเหตุอื่นๆ เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดอุบัติเหตุต่างๆ เช่น นอนตกหมอน เป็นต้น
อาการปวดคอที่เกิดจากหมอนรองกระดูกเสื่อม
- ระยะแรก จะปวดคอ ปวดสะบัก แต่ยังไม่ปวดเส้นประสาท จะยังไม่ปวดลามไปที่แขน
- ระยะที่สอง หมอนรองกระดูกจะกดทับเส้นประสาท จะมีอาการปวดคอ ร้าวมาถึงมือ
- ระยะที่สาม หมอนรองกระดูกกดทับไขสันหลังจะทำให้การเดินผิดปกติ ทำให้เดินกาง เดินเซ ไม่มั่นคง ถ้าเป็นมากขึ้นเรื่อยๆจะเดินไม่ได้ต้องนั่งรถเข็น มีอาการชาร่วมด้วย
เมื่อมีอาการปวดคอควรทำอย่างไร?
- ผู้ที่มีอาการปวดต้นคอหรือตกหมอน ส่วนใหญ่จะเกิดจากการได้รับบาดเจ็บของกล้ามเนื้อคอ คอจะแข็งอย่างเฉียบพลัน หลังจากเอี้ยวบิดผิดท่า หรือภายหลังจากการตื่นนอน การรักษาสามาถทำได้โดยการนอนพัก อย่าเคลื่อนไหวคอ กินยาแก้ปวดแต่ในระยะแรกควรประคบต้นคอด้วยน้ำแข็ง หรือใช้น้ำอุ่นประคบประมาณ 10-15 นาที
- ถ้าปวดคอมากๆ อาจต้องใส่ปลอกคอ และไม่แนะนำให้ไปจับเส้นในทันที เพราะจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
- สำหรับผู้ที่ปวดคอเรื้อรัง อาการปวดมักไม่รุ่นแรง แต่จะปวดเพิ่มขึ้นเมื่อก้มหรือเงย ตะแครง หรือเอี้ยวคอ ผู้ที่มีอาการเช่นนี้ ควรกินยาแก้ปวด ประคบต้นคอด้วยน้ำแข็ง หรือน้ำอุ่น และออกกำลังกล้ามเนื้อคอ
- ส่วนการนวดกดจุดนั้น ถ้านวดถูกหลักจะช่วยระงับอาการปวดได้ และควรนวดหลังจากประคบแล้วประมาณ 10-15 นาที
- ถ้าหมอนรองกระดูกกดทับไขสันหลังแล้ว ต้องรีบผ่าตัดรักษา
อาการที่ควรไปพบแพทย์
- มีอาการเจ็บคอรวมกับแขนขาอ่อนแรง หรือมีอาการปวดข้อร่วมกับเบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- มีอาการปวดต้นคอตลอดเวลา และปวดมาก หรือ เมื่อได้รับอุบัติเหตุแล้วจึงปวดต้นคอ
- โดยเฉพาะอาการปวดต้นคอร่วมกับมีไข้สูง คอแข็งโดยไม่สามารถก้มหน้าเอาคางจรดอกได้ อาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังเป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
วิธีป้องกันอาการปวดคอ
- ปรับการใช้งานคอ เพื่อให้กล้ามเนื้อช่วยผ่อนแรงกระดูกสันหลังกับหมอนรองกระดูก
- เลือกหมอนที่เหมาะกับตัวเอง ไม่สูงจนเกินไป
- ออกกำลังกล้ามเนื้อคออย่างสม่ำเสมอ ในผู้ที่มีอาการหมอนรองกระดูกคอเสื่อม ควรจะเน้นความแข็งแรง คือ ออกกำลังให้มีความหดตัวของกล้ามเนื้อ แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวมากนัก เช่น ใช้มือดันศรีษะไว้แล้วเกร็งสู้กัน ค้างไว้ประมาณ 5-10 วินาที ด้านหน้าก็เอามือดันหน้าผากเกร็งสู้กัน 5-10 วินาที ด้านหลังใช้มือประสานท้ายทอยแล้วดันคอไปด้านหลัง เกร็งค้างไว้ 5-10 วินาทีเช่นกัน
รู้หรือไม่?
- ถ้าปวดคอตอนเช้ามากกว่าเวลาอื่นอาจเกิดจากหมอนรองกระดูกคอเสื่อม
- ในคนที่กระดูกคอเสื่อมไม่ควรออกกำลังด้วยวิธีหมุนคอ
- ควรหลีกเลี่ยงการหักคอเพื่อให้เกิดเสียงดัง เพราะจะมีผลเสียในระยะยาวทำให้กระดูกคอเสื่อมได้เร็วกว่าปกติ
- หมอนแบบใหนเหมาะกับคอของเรา ต้องลองใช้ดูด้วยตัวเอง
- คนปกติต้องเอาคางชิดอกได้ แหงนคอสุดต้องมองเพดานได้ เอียงซ้าย เอียงขวา ซึ่งในคนไข้ที่กล้ามเนืออักเสบเฉียบพลันจะเอียงไม่ได้เพราะคอจะแข็ง