ติดหวาน
สำหรับคนที่ชอบกินของหวาน ติดหวาน มากๆ หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว คุณอาจเปลี่ยนความคิดใหม่เป็น “แค่หวานน้อยๆ แต่หวานนาน”
ในการดำรงชีวิตเราจะขาดน้ำตาลไม่ได้ เพราะพลังงานในการเคลื่อนไหวของมนุษย์ 70% มากจากน้ำตาล ซึ่งน้ำตาลกลูโคสนั้น จำเป็นต่อการทำงานของสมอง และการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย
แต่ถึงร่างกายจะต้องการพลังงานมากถึง 70% จากน้ำตาล ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องกินน้ำตาลในปริมาณมากๆ ตามไปด้วย เพราะน้ำตาลและความหวานนั้น เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน ทำให้มะเร็งลุกลาม และยังทำให้เกิดสภาวะกรดในร่างกายอีกด้วย
คุณกินน้ำตาลวันละกี่ช้อนชา?
จากงานวิจัยพบว่า ประเทศไทยกินหวานมากที่สุดในโลก รองจากประเทศบราซิล โดยคนไทย 1 คน กินน้ำตาลถึง 36 กิโลกรัมต่อปี หรือวันละ 25 ช้อนชา โดยปกติแล้วเราไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 9-10 กิโลกรัมต่อปี หรือ 6 ช้อนชาต่อวัน
น้ำตาลแทบไม่มีประโยชน์เลย เพราะน้ำตาลคือคาร์โบไฮเดรต ซึ่งปกติเราทานอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตจากแหล่งอื่นๆ เช่น แป้ง ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง พวกนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลอยู่แล้ว
การกินน้ำตาลเพิ่มแค่วันละไม่เกิน 6 ช้อนชา จากอาหารปกติที่เราทาน น้ำตาลก็จะถูกเผาผลาญไปเป็นพลังงานแบบพอดี
อันตรายจากการกินหวานมากเกินไป
- อ้วน เพราะถ้าเรากินน้ำตาลเพิ่มจากอาหารปกติ เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ร่างกายจะเผาผลาญไม่หมด น้ำตาลจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันส่วนเกิน ทำให้เราอ้วนขึ้น โดยเฉพาะ สะโพก ก้น ขาอ่อน และหน้าท้อง
- ส่งผลเสียกับระบบความสมดุลของแร่ธาตุในร่างกาย ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง ผลที่ตามมาคือ ทำให้ร่างกายติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ง่าย เช่น มีความดันเลือดสูงขึ้น ปวดศีรษะเรื้อรัง เป็นตะคริวเวลามีรอบเดือน เป็นสิว ผื่น แผลพุพอง ตกกระ แผลริดสีดวงทวารหนัก ไมเกรน วัณโรค โรคหัวใจ มะเร็งตับ
- ทำให้ร่างกายดื้อกับอินซูลิน ไม่ยอมเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดเป็นไขมัน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง จนทำให้กลายเป็นเบาหวานได้ในที่สุด
- เบื่ออาหาร เพราะวิตามินบีในร่างกายถูกใช้ไปมาก จะส่งผลทำให้น้ำย่อย และน้ำลายลดน้อยลง ทำให้เบื่ออาหารและทานได้น้อยลง
- ผิวหนังเหี่ยวย่น แก่ก่อนวัย เพราะน้ำตาลจะไปจับตัวกับคอลลาเจน และลดปริมาณของฮอร์โมนแห่งความอ่อนเยาว์ ซึ่งจะทำให้ผิวหนังแห้ง เหี่ยวย่น ลดความยืดหยุ่น และอ้วนได้
- ทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคอะไรก็ตาม เช่น หากเป็นภูมิแพ้ อาการของโรคภูมิแพ้ จะมีความรุนแรงเป็น 2 เท่า หรือทำให้อาการของโรคติดเชื้อที่เป็นอยู่ มีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากเชื้อโรคทุกชนิด จะใช้น้ำตาลเป็นอาหาร
- น้ำตาลยังเป็นแหล่งอาหารของเซลล์มะเร็ง เป็นอาหารของยีสต์ในลำไส้ ทำให้ยีสต์เพิ่มจำนวนมากขึ้น และทำให้เกิดภาวะไส้รั่วได้
ทำไมถึงอยากกินของหวานตลอดเวลา?
ที่เป็นแบบนี้ เพราะน้ำตาลนั้นส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดต่อสมองของเราโดยตรง จนมีคนเปรียบเปรยไว้ว่า การติดน้ำตาลนั้น แทบไม่แตกต่างกับการติดสารเสพติดอย่างอื่นเลย
มีการวิจัยพบว่า การกินน้ำตาลในปริมาณที่สูงมากๆ จะทำให้สมองสั่งสารเซโรโทนิน (serotonin) ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน นานวันเข้าสมองของเราก็จะเริ่มเสพสารนี้ สมองก็จะสั่งการให้เราทานน้ำตาลเข้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อผลิตสารเซโรโทนินนี้ออกมา ทำให้กลายเป็นวงจรของการติดความหวานอย่างไม่จบสิ้น
เด็กที่กินหวานมากๆ จะไม่ฉลาด
เด็กที่กินหวานมากๆ จะทำให้ ฮอร์โมนในสมองเสียสมดุล ผลที่ตามมาคือ เกิดอาการเซื่องซึม เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่กระฉับกระเฉง ไม่มีสมาธิ โกรธง่าย และหงุดหงิด นอกจากนี้ยังทำให้ ฟันผุ และเป็นโรคกระดูกเปราะได้ด้วย
สัญญาณเตือนติดหวาน
- ลดน้ำหนักยาก ทำอย่างไรน้ำหนักก็ไม่ยอมลง
- อยากกินหวาน ถ้าไม่ได้กินแล้วก็จะรู้สึกหงุดหงิด สับสน เครียด อ่อนเพลีย เหนื่อย หิว
วิธีแก้อาการติดหวาน
วิธีแก้ไม่ใช่การหักดิบ เพราะร่างกายจะทนไม่ใหว สุดท้ายก็จะกลับไปกินน้ำตาลในปริมาณมากๆ อีกเหมือนเดิม ทางที่ดีคือ การค่อยๆตัดน้ำตาลออกไป หลีกเลี่ยงการกินอาหารกระป๋อง หรืออาหารสำเร็จรูปที่มีน้ำตาลเยอะๆ ดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ งดน้ำหวานทุกชนิด
แค่นี้ร่างกายก็จะกลับมาคุ้นเคยกับระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลง ค่อยเป็นนค่อยไป สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่ถ้ากลัวความหิวจะทำให้เราอดใจไม่ใหว ก็ให้ทานโปรตีนให้มากๆ เพราะจะทำให้รู้สึกอิ่มท้อง ทานผักผลไม้ให้มาก เพราะมีไฟเบอร์อยู่สูง ซึ่งช่วยรักษาสมดุลของน้ำตาลในเลือด ทำให้เรารู้สึกไม่อยากกินจุบกินจิบ
แต่สำหรับผู้ที่ยังติดใจในรสหวานชนิดที่เลิกไม่ได้ ก็อาจใช้สารให้ความหวานชนิดอื่นที่มีพลังงานต่ำ เช่น ในเครื่องดื่มบางชนิดที่มีสารให้ความหวาน แต่ปราศจากน้ำตาล หรือที่เรียกว่า “Sugar free“
อาหาร 5 ชนิด ช่วยลดอาการติดหวาน
- มะเขือเทศ มีผลต่อสมองช่วยยับยั้งความหิว และช่วยลดอาการอยากกินน้ำตาลได้
- อบเชย สามารถระงับอาการอยากกินน้ำตาล หรือของหวานได้เป็นอย่างดี
- แอปเปิ้ล มีแป้งและน้ำตาลถึง 75 % ซึ่งร่างกายสามารถดูดซึ่ม และนำไปใช้ประโยชน์ได้ในเวลาไม่ถึง 10 นาที ทานแอปเปิ้ลวันละ 2-3 ผล จะช่วยลดปริมาณคอเลสตรอรอลในเส้นเลือดได้ด้วย
- ข้าวโพดหวาน ระดับน้ำตาลไม่พุ่งเหมือนน้ำหวาน เพราะอุดมไปด้วยเส้นใย รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน เกลือแร่อีกมากมาย
- มันเทศ นอกจากจะมีความหวานตามธรรมชาติแล้ว ยังอุดุมไปด้วยวิตามินซี วิตามินดี วิตามินบี 6 และธาตุเหล็ก และยังมีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอีกมาก
กินหวานตามหลักโภชนาการ
ข้อแนะนำในการรับประทานน้ำตาล คือ จำกัดไว้ที่ประมาณ 5-10% ต่อวันของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด ซึ่งตามหลักโภชนาการแล้ว จะแนะนำให้รับประทานน้ำตาลในปริมาณน้อย เช่นเดียวกับเกลือและไขมัน โดยปริมาณของน้ำตาลที่ร่างกายต้องการต่อวัน ไม่ควรจะเกิน 50 กรัม หรือ ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา
วิธีคำนวณปริมาณน้ำตาลจากกรัมเป็นช้อนชา
อ่านฉลากบนอาหารสำเร็จรูป ที่แสดงถึงปริมาณน้ำตาลทั้งหมดเป็นกรัม แล้วหารด้วย 4 ก็จะได้จำนวนช้อนชาของน้ำตาลที่เรารับประทานเข้าไป
เราไม่จำเป็นต้องตัดความหวานออกจากชีวิตประจำวัน แต่ต้องรู้จักทานน้ำตาลในปริมาณที่พอดี เหมาะสม การลดน้ำตาลแค่วันละ 1 ช้อนชา ก็สามารถช่วยลดการเกิดโรคได้แล้ว “หวานน้อยๆ แต่หวานนานๆ ทำให้ร่างกายแข็งแรงห่างไกลจากโรคร้าย”