การทดสอบการตั้งครรภ์
การทดสอบการตั้งครรภ์ จะทำการวัดระดับฮอร์โมน hCG ซึ่งจะพบในเลือดของหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หลังจากไข่ที่ได้รับการปฎิสนธิกับอสุจิแล้วฝังตัวบนผนังมดลูก ซึ่งปกติจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6 วันหลังจากการปฎิสนธิ
อย่างไรก็ตาม 10% พบว่าการฝังตัวบนผนังมดลูกของไข่อาจจะยังไม่เกิดขึ้น กระทั่งหลังจากวันแรกที่ประจำเดือนขาด
การทดสอบการตั้งครรภ์ มีอยู่ 2 แบบ
การทดสอบตั้งครรภ์ด้วยปัสสาวะ
ชุดทดสอบการตั้งครรภ์จะให้ผลแม่นยำที่สุด เมื่อทำการทดสอบหลังจากรอบเดือนขาดไปแล้ว 1 สัปดาห์ แม้ว่าชุดทดสอบการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ จะได้รับการกล่าวอ้างว่า ให้ผลการทดสอบที่แม่นยำถึงร้อยละ 99 ก็ตาม
ผลการทดสอบอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ เพราะโอกาสที่ตัวอ่อนจะฝังตัวบนผนังมดลูกหลังจากประจำเดือนไม่มาวันแรก มีสูงถึงร้อยละ 10 ซึ่งในกรณีนี้ ระดับฮอร์โมน hCG อาจจะยังไม่สูงพอที่จะวัดได้
ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่สามารถตรวจวัดระดับฮอร์โมน hCG หลังจากประจำเดือนไม่มาเพียงวันเดียวได้ค่อนข้างแม่นยำ อีกทั้งการทดสอบด้วยตัวอย่างน้ำปัสสาวะแรกหลังจากตื่นนอนนั้นจะให้ค่าระดับฮอร์โมน hCG สูงที่สุด
การตรวจเลือด (beta hCG)
หากคุณไม่ต้องการรอนาน การทดสอบแบบนี้อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพราะสามารถทดสอบการตั้งครรภ์ได้แม้ฮอร์โมน hCG มีระดับต่ำ
โดยอาศัยการนับระยะของการตกไข่ การทดสอบเลือดนี้สามารถทดสอบได้ตั้งแต่ช่วงวันที่ 6-8 หลังจากไข่ตก ขณะที่การทดสอบปัสสาวะนั้น ปกติจะทำการทดสอบหลังจากไข่ตกแล้วประมาณ 14-21 วัน
ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยน้ำปัสสาวะ
ส่วนใหญ่จะมีช่องแสดงผลสองช่องคือ “ควบคุม” และ “ผลการทดสอบ” เมื่อปรากฏแถบสี หรือสัญลักษณ์บนช่อง “ควบคุม” นั่นแสดงให้เห็นว่าชุดทดสอบนี้ทำงานปกติ ถ้าในช่อง “ควบคุม” ไม่ปรากฏแถบหรือสัญลักษณ์ใด ๆ ที่ระบุไว้ตามคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์แล้ว หมายความว่าชุดทดสอบนั้นทำงานไม่ปกติ
ถ้าช่อง “ควบคุม” แสดงแถบสีปกติแล้ว และมีแถบหรือสัญลักษณ์อีกอันหนึ่งปรากฏขึ้นมาที่ช่อง “ผลการทดสอบ” หมายความว่าผลการทดสอบเป็นบวก แสดงว่าคุณกำลังตั้งครรภ์
ถ้าไม่ปรากฏแถบสีหรือสัญลักษณ์ในช่อง “ผลการทดสอบ” ตามคู่มือการทดสอบส่วนใหญ่แล้ว ผลคือไม่ตั้งครรภ์ แต่เพื่อให้เป็นที่แน่ใจที่สุดว่าไม่ตั้งครรภ์ ท่านควรทำการทดสอบอีกครั้งหลังจากการทดสอบครั้งแรก 2-3 วัน
ถึงแม้ว่าแถบสีในช่อง “ผลการทดสอบ” จะลางเลือน ปกติแล้วผลของการทดสอบก็คงเป็นบวกอยู่นั่นเอง แต่อาจจะเป็นเพราะว่าระดับ hCG ในเลือดนั้นยังต่ำอยู่
ถ้าคุณมีความกังวล หรือไม่แน่ใจกับแถบลางเลือนที่ปรากฏนั้น ทางที่ดีที่สุดควรทำการทดสอบอีกครั้ง 2-3 วัน หลังจากการทดสอบครั้งนั้น หรือพบแพทย์เพื่อทำการทดสอบเลือดเพื่อยืนยัน
ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ที่มีหน้าจอแสดงผลแบบดิจิตอล
จะแสดงผลการทดสอบเป็นถ้อยคำว่า “ตั้งครรภ์” หรือ “ไม่ตั้งครรภ์” ชุดการทดสอบการตั้งครรภ์แบบดิจิตอลนั้นอาจจะไม่มีช่อง “ควบคุม” แต่จะปรากฏสัญญาณกระพริบบอกที่ช่องแสดงผลการทดสอบแทน
แนะนำให้ผู้ใช้ถือแท่งทดสอบรองรับน้ำปัสสาวะโดยตรง ขณะที่บางยี่ห้อ แนะนำให้จุ่มแท่งทดสอบลงไปในน้ำปัสสาวะที่รองไว้ในถ้วยรองที่มากับชุดทดสอบ และรอเวลาอ่านผลตามที่คู่มือการใช้แนะนำ
ผลการตรวจการตั้งครรภ์ผิดพลาด
- ส่วนมากแล้วกรณีผลลบที่ผิดพลาดดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้มากกว่ากรณีผลบวกที่ผิดพลาด
- โอกาสที่เป็นไปได้น้อยมากก็คือ การที่ฮอร์โมน hCG ถูกสร้างขึ้นมา แม้สตรีท่านนั้นไม่ได้กำลังตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การทดสอบที่ให้ผลบวกที่ผิดพลาด
- ยาช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์บางตัว (ยาที่ใช้ในกรณีสตรีมีบุตรยาก) การทำ iui อาจจะทำให้เกิดผลการทดสอบแบบบวกที่พิดพลาดได้ เพราะในตัวยาเองนั้นมีปริมาณฮอร์โมน hCG อยู่
- ซีสต์รังไข่ การตั้งครรภ์ก่อนหน้านี้ การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือโรควัยทอง อาการเหล่านี้ก็อาจนำไปสู่การทดสอบที่ให้ผลบวกผิดพลาดได้
- สาเหตุของผลลบที่ผิดพลาดในการทดสอบการตั้งครรภ์นั้นอาจเป็นเพราะการทดสอบการตั้งครรภ์ที่เร็วเกินไป ระยะการรออ่านผลไม่ถูกต้อง หรือการทดสอบด้วยน้ำปัสสาวะที่เจือจาง
- เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลการทดสอบลบที่ผิดพลาด ผู้ทดสอบควรชะลอทำการทดสอบออกไป 1 สัปดาห์หลังจากที่ประจำเดือนไม่มา แล้วค่อยทำการทดสอบ
- ตั้งนาฬิกาจับเวลาในขณะทำการทดสอบเพื่อความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
- ควรทดสอบด้วยน้ำปัสสาวะครั้งแรกหลังจากตื่นนอน เพราะว่าในน้ำปัสสาวะครั้งนี้มีระดับฮอร์โมน hCG สูงที่สุด
สามารถหาซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์ได้ที่ไหน?
คุณสามารถหาซื้อชุด ทดสอบการตั้งครรภ์ได้ตามร้านขายยา ร้านขายของชำ และร้านค้าปลีกใหญ่ ๆ ทั่วไปในราคาที่ไม่แพงมากนัก ซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ และอย่าลืมตรวจดูวันที่หมดอายุก่อนซื้อ บางยี่ห้องมีชุดทดสอบการตั้งครรภ์มาในหนึ่งบรรจุภัณฑ์มากกว่าหนึ่งชุด ซึ่งราคาก็จะเพิ่มขึ้น
อาการระยะแรกที่บ่งบอกว่าคุณอาจกำลังตั้งครรภ์
- ประจำเดือน (ระดู) ไม่มา
- หน้ามืดวิงเวียนและ อาเจียน (หรือที่เรียกว่าอาการป่วยยามเช้า ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจมีอาการนี้เวลาใดของวันก็ได้)
- เต้านมคัดตึง
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
- เมื่อยเปลี้ยอ่อนเพลียง่าย
- ลิ้นรับรสผิดเพี้ยน เบื่อหรือไม่อยากอาหาร