การดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค
การดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องกินยารักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน และต้องใช้ยาหลายขนานเพื่อป้องกันการดื้อยา
ยารักษาวัณโรคแบ่งออกเป็น 2 ระยะ
- ระยะเข้มข้น ในช่วงเวลา 2 เดือนแรกการรักษาช่วงนี้จะประกอบไปด้วยตัวยาหลีก 4 ชนิด ซึ่งตัวยาอาจจะอยู่ในรูปแบบของยาแยกเม็ดหรือรวมอยู่ในเม็ดเดียวกันที่เรียกว่ายารวมเม็ด ระยะเข้มข้นนี้ถือว่ามีความสำคัญมากเพราะจะช่วยลดปริมาณของเชื้อในปอดได้มากที่สุดและช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อด้วย
- ระยะต่อเนื่อง ในช่วงเวลา 4 เดือนต่อมา การรักษาใช้ยาหลัก 2 ชนิด เพื่อกำจัดเชื้อวัณโรคที่เหลืออยู่ ซึ่งตัวยาอาจจะอยู่ในรูปแบบของยาแยกเม็ดหรือเป็นยารวมเม็ดก็ได้เช่นกัน
หากกินยาครบตามสูตรนี้ก็จะสามารถรักษาวัณโรคได้ ซึ่งการทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะหากทานยาไม่ครบ เชื้อวัณโรคก็จะมีการพัฒนาตัวทำให้เกิดการดื้อยาขึ้นทำให้ต้องรักษาด้วยยาที่มีราคาแพงและใช้ระยะเวลาในการรักษานานกว่า 18 เดือน และอาจมีผลข้างเคียงต่อการใช้ยามากขึ้นอีกด้วย ยิ่งถ้าหากเชื้อที่ดื้อยานี้แพร่ออกไปก็จะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อทำการรักษายากขึ้นไปอีก
การดูแลผู้ป่วยวัณโรค
- สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาวัณโรคคือ ผู้ป่วยต้องเคร่งครัดกับตัวเอง กินยาให้ครบทุกเม็ดและทุกมื้อ และไม่หยุดยาเองเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยาได้
- มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อติดตามผลของการรักษาและอาการข้างเคียงจากการใช้ยาที่อาจจะเกิดขึ้น
- ผู้ป่วยควรเลิกสูบบุหรี่และเลิกดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะยิ่งทำให้อาการของวัณโรคแย่ลง
- ญาติหรือผู้ดูแลใกล้ชิดมีความสำคัญมากที่จะคอยให้กำลังใจ ช่วยดูแลการรับประทานยาของผู้ป่วยให้ต่อเนื่อง ควรเห็นผู้ป่วยทานยาต่อหน้าทุกครั้ง และดูแลให้ผู้ป่วยมารับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามเวลานัด
ควบคุมการรักษาได้อย่างไร?
- การรักษาจะต้องได้รับการสั่งยาและกินยาในความดูแลของแพทย์แผนกโรคปอด ซึ่งแผนกนี้จะมีระบบที่ทำให้แน่ใจว่าผู้ป่วยได้กินยาอย่างถูกต้องตลอดช่วงของการรักษา
- การนำเสมหะไปเพาะเชื้อวัณโรคแล้วไม่เจอเชื้อ หลังจากรักษาไปแล้ว 6 ถึง 12 เดือน หมายถึงรักษาหายดีแล้ว แพทย์อาจตรวจสอบสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยอย่างรอบคอบ สมาชิกในครอบครัวทั้งหมดอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจเอ็กซเรย์ปอด
วิธีป้องกันโรควัณโรค
- รักษาร่างกายให้แข็งแรง และตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ
- อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเท เช่น ในห้องก็ควรจะเปิดหน้าต่างให้มีลมพัดเข้ามาบ้าง เพราะการปิดห้องและเปิดแต่เครื่องปรับอากาศนั้นจะทำให้อากาศไม่หมุนเวียนและอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อวัณโรคได้
- เมื่อมีอาการไอควรสวมผ้าปิดปากเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายสู่ผู้อื่น
- ควรรีบไปรักษา ให้หายโดยเร็วที่สุดเพราะเมื่อคุณหายทุกคนก็ปลอดภัย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคในระยะแสดงอาการ เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีโอกาสแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้มากที่สุด
- หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็น 2 สัปดาห์ หลังจากเริ่มการรักษา สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจย้อมเสมหะพบเชื้อวัณโรค เพราะสามารถแพร่เชื้อวัณโรคได้
- ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ การได้รับวัคซีนป้องกันวัณโรค BCG ตั้งแต่เด็กจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคได้ ซึ่งในปัจจุบันเด็กไทยแรกเกิด สามารถรับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ หากรับบริการจากทางโรงพยาบาลของรัฐ ตามสิทธิการรักษา
สำหรับบุคคลที่ไม่มีหลักฐานว่าป่วยเป็นโรค แต่มีผลการตรวจคัดกรองวัณโรคทางผิวหนังเป็นบวก และไม่เคยฉีดวัคซีนวัณโรคมาก่อน สามารถให้ยาป้องกันวัณโรค ด้วยยาชนิดเดียว คือ ไอโซไนแอซิด เป็นเวลา 6 ถึง 12 เดือน เพื่อป้องกันการป่วยเป็นโรคในอนาคตได้
หญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นวัณโรค ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากโรคอาจลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมารดาเอง และทารกในครรภ์
รู้หรือไม่?
- สาเหตุส่วนใหญ่ของการรักษาที่ล้มเหลวเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำในระยะยาวของโปรแกรมการรักษา
- ผู้ป่วยที่มีปริมาณเชื้อแบคทีเรียน้อย คือ ตรวจย้อมเสมหะไม่พบเชื้อ แต่ยังมีเชื้อเมื่อนำเสมหะไปเพาะเชื้อ ผู้ป่วยเหล่านี้มักไม่ค่อยแพร่เชื้อ แต่ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการรักษาตามมาตรฐาน
- จากสถิติผู้ป่วยรายใหม่มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้มากกว่าผู้ป่วยที่เคยรับการรักษาไปแล้วแต่รับการรักษาไม่ครบแล้วกลับมาเริ่มการรักษาใหม่ ดังนั้นจึงควรรักษาให้หายขาดตั้งแต่ครั้งแรกที่เป็น