การดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ
การดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ ผู้ป่วยที่นั่งหรือนอนอยู่กับที่นานๆ มักจะเกิดแผลกดทับตามมาได้ เพราะเลือดไปเลี้ยงผิวหนังลดลง และเมื่อเกิดแผลกดทับ ควรดูแลรักษาอย่างถูกวิธี
แผลกดทับ พบบ่อยในผู้ป่วยที่ไม่ค่อยรู้สึกตัว ช่วยตัวเองหรือเคลื่อนใหวไม่ได้ มีสาเหตุมาจากผิวหนังถูกกดทับอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไปเลี้ยงผิวหนังลดลง ผิวหนังบริเวณนั้นจะเริ่มตาย
ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บ ผิวหนังบริเวณที่ถูกกดทับ จะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือม่วง หากทิ้งไว้ไม่รักษา จะเกิดเป็นแผลและติดเชื้อได้ ถ้าเป็นมากอาจกินลึกไปได้ถึงชั้นกล้ามเนื้อ และกระดูก และจะต้องใช้เวลาในการรักษานาน
การดูแลรักษาผู้ป่วยแผลกดทับ
- ลดแรงกดทับบริเวณแผล เช่น ไม่นอนทับตรงบริเวณแผล หรือใช้เบาะนุ่มๆ หรือเตียงลม
- ทำแผลและรักษาแผลให้สะอาด
- ปกป้องบริเวณแผลโดยใช้ผ้าก๊อซปิดแผลไว้
- กินอาหารที่มีประโยชน์ มีโปรตีน สารอาหาร และพลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะทำให้แผลหายเร็ว โดยเฉพาะ นม ไข่ เนื้อสัตว์ ผักคะน้า ผักใบเขียว และผลไม้สด
- ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และดื่มให้บ่อย เพราะการดื่มน้ำนั้นจะช่วยให้แผลเยียวยาตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
- ถ้าสามารถออกกำลังกายได้ควรทำ เพื่อให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่น และทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น แต่ถ้าทำไม่ได้ให้มีคนช่วยทำ เพื่อป้องกันปัญหาข้อติด
- ควรให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คแผล ในบางกรณีหากมีอาการรุนแรง หรือติดเชื้อ ผู้ป่วยอาจต้องการการรักษาเพิ่มเติม โดยการใช้ยาฆ่าเชื้อ หรือการผ่าตัดเข้าช่วย
ตำแหน่งแผลกดทับที่พบได้บ่อย
แผลกดทับเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย แต่พบบ่อยบริเวณส่วนของร่างกายที่ไม่ค่อยมีไขมัน หรือบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่เหนือปุ่มกระดูก เช่น บริเวณก้นกก ด้านข้างของสะโพก ส้นเท้า ตาตุ่ม
วิธีป้องกันการเกิดแผลกดทับ
- ให้หมั่นสังเกตุดูว่าผิวหนังของผู้ป่วยเริ่มมีรอยแดงหรือไม่ เพราะหากผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง แสดงว่ามีอาการเริ่มต้นเป็นแผลกดทับ
- ให้ผู้ป่วยพลิกตัวเปลี่ยนท่าบ่อยๆ
- ใช้เตียงลมหรือเบาะรองนุ่มๆ เพื่อลดแรงกดทับ
- รักษาผิวหนังให้แห้ง และทำความสะอาดอยู่เสมอ