โรคหูดหงอนไก่
โรคหูดหงอนไก่ (Genital warts) เกิดจากเชื้อไวรัส HPV สามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสทางเพศกับผู้ป่วย มีลักษณะนูนขึ้นมาคล้ายหูดหงอนไก่ของไก่ชนหรือดอกกะหล่ำ มักเป็นที่อวัยวะเพศของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย
ปัจจัยเสี่ยง
- การมีเพศสัมพันธ์อย่างสำส่อน การเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
- มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน หรือการใส่ถุงยางอนามัยไม่ถูกต้อง
- มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
- ผู้ที่มีภูมิคุ้นกันของร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มะเร็ง ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์ หรือยาเคมีบำบัด รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ด้วย
อาการของโรคหูดหงอนไก่
อาการของโรคจะแสดงหลังการได้รับเชื้อแล้วประมาณ 3-4 เดือน ส่วนใหญ่จะเริ่มมีติ่งเนื้อเล็กๆ สีชมพู หรือสีเนื้อ บางครั้งเป็นสีขาว มักจะขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก ในผู้ชายส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ หรือบริเวณเส้นสองสลึง ถ้ามีการร่วมเพศทางทวารหนักก็จะมีหูดขึ้นบริเวณทวารหนักได้เหมือนกัน ส่วนในผู้หญิงจะมีอาการตั้งแต่บริเวณปากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ปากมดลูกและทวารหนัก
ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานไม่รักษา ก็จะกลายเป็นก้อนหูดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและอาจไปกดเบียดอวัยวะต่างๆ เช่น ปัสสาวะ อาจทำให้ปัสสาวะไม่ออกหรือลำบาก กดเบียดบริเวณทวารหนัก อาจทำให้ถ่ายเป็นเลือดหรือถ่ายไม่ออก ผู้ป่วยบางรายอาจมีเลือดออกจากตำแหน่งของตัวก้อนหูดได้ แต่ในบางรายอาจไม่แสดงอาการอะไรเลย บางรายเป็นมากเป็นน้อยไม่เหมือนกัน
การรักษา โรคหูดหงอนไก่
แพทย์จะทำการแต้มยาที่บริเวณหูดหงอนไก่ เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานในร่างกายให้มีการยับยั้งและเก็บกินเชื้อไวรัสที่ฝั่งตัวอยู่ภายใต้ผิวหนัง หรือตามเส้นประสาทของร่างกาย โดยจะแต้มสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จนกระทั่งหูดหงอนไก่หายไปหมด
ถ้าต้องการทายาเองที่บ้าน จะต้องทายา 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือวันเว้นวันนานประมาณ 16 สัปดาห์
ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาป้าย อาจจำเป็นต้องทำการจี้ด้วยความเย็น จี้ด้วยเลเซอร์ จี้ไฟฟ้าหรือทำการผ่าตัด
วิธีป้องกันโรคหูดหงอนไก่
- ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร
- สวมถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งที่มีการร่วมเพศ
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
รู้หรือไม่?
- โรคหูดหงอนไก่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ ถ้ามีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อไวรัส HPV อีก
- สตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโรคหูดในช่องคลอดแล้วทำการคลอดบุตรผ่านทางช่องคลอด บุตรจะมีโอกาสติดเชื้อได้
- โรคหูดหงอนไก่เป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เด็กมักมีอาการที่ฝ่ามือ
- ผู้ป่วยบางรายที่มีการติดเชื้อโรค อาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งได้ในอนาคต
- โรคนี้มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ดังนั้นผู้หญิงในวัยเจริญพันธ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจภายในเป็นประจำทุกปี