โรคหัวใจ
โรคหัวใจ จะรู้สึกเหนื่อยขณะออกแรง เช่น เดินหรือออกกำลังกาย มีอาการเจ็บหน้าอกมาก เหมือนมีอะไรหนักๆ ทับที่หน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ เหงื่อออก ใจสั่น อาการเหล่านี้ คือสัญญาณของโรคหัวใจ และหลอดเลือด
โรคหัวใจและหลอดเลือด เกิดจากอะไร?
เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดจะมีการพอกสะสมของไขมัน อนุมูลอิสระที่อยู่ภายในเลือด จะไปขูดผนังหลอดเลือดให้เป็นรอย ไขมันจะเกาะได้ง่ายขึ้น ถ้าเราชอบกินอาหารประเภทคอเลสเตอรอลเป็นประจำ ซึ่งมีอยู่มากในอาหารประเภท ไข่แดง ปลาหมึก และเครื่องในสัตว์
เมื่อไขมันเกาะพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลอดเลือดตีบตันลง สุดท้ายเมื่อหลอดเลือดมีการตีบมากๆ หากมีลิ่มเลือดมาปิดกั้น เลือดจะไปเลี้ยงหัวใจไม่ทัน เกิดภาวะตันทำให้หัวใจขาดเลือด หรือหัวใจวาย และเสียชีวิตในที่สุด
โรคหัวใจ อาการ
ในระยะแรก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะรู้สึกเหนื่อยขณะออกแรง เช่น เวลาเดินไกลๆ ขึ้นลงบรรไดแล้วเหนื่อย แต่ไม่เกิน 10 นาที พักแล้วจะหาย แต่ถ้าอยู่เฉยๆ จะไม่มีอาการ
ระยะเรื้อรัง กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จะมีอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง บริเวณกลางหน้าอกหรือด้านซ้ายตำแหน่งของหัวใจ เจ็บเค้น เจ็บเหมือนถูกบีบ ถูกเหยียบ พักแล้วก็ไม่หาย
ส่วนใหญ่จะเจ็บเกิน 20 นาทีขึ้นไป มักมีอาการขณะที่ออกแรง บางคนจะมีอาการร่วมกับเหงื่อแตก ใจสั่น หรือถ้าเป็นมากอาจเป็นลมหมดสติได้ ต้องนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ระยะสุดท้าย อยู่เฉยๆ ก็เหนื่อย นอนราบไม่ได้ต้องนอนศีรษะสูง หรือนั่งหลับ ขาบวม ท้องมาร ตับโต
สาเหตุ และ ปัจจัยเสี่ยง
- ปัจจัยแรกที่เราเลี่ยงไม่ได้คือ พันธุกรรม
- เกิดจากตัวคุณเอง เริ่มจากพฤติกรรมการกินที่ไม่สมดุล กินหวาน มัน เค็ม แต่กินผักและผลไม้น้อย
- ภาวะน้ำหนักเกิน พุงใหญ่ โรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ไม่ออกกำลังกาย ไม่กระฉับกระเฉง สภาวะความเครียดจากการทำงาน การพักผ่อนไม่เพียงพอ
- สูบบุหรี่ 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เป็นผลมาจากการสูบบุหรี่
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อโรคหัวใจกำเริบ
- ให้นั่งพัก
- สำหรับผู้ที่ป่วยอยู่แล้วให้กินยาประจำตัว โดยให้อมยาใต้ลิ้น ถ้าอม 3 เม็ดแล้วไม่ทุเลา ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที
- ถ้าเจ็บหน้าอกเป็นเวลา 15-30 นาที ควรรีบไปพบแพทย์ทัน เพราะอาจเสียชีวิตได้
วิธีรักษาโรคหัวใจที่ดีที่สุด
- การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน คือวิธีที่ดีที่สุดและนิยมมากที่สุด เพราะมีแผลเล็ก ใช้เวลาพักฟื้นน้อย โดยการใช้ลูกโป่งขนาดเล็กสอดเข้าไปในหลอดเลือด เพื่อขยายหลอดเลือดตัวที่มีปัญหานั้นให้ถ่างออก แล้วเอาท่อขดลวดขนาดเล็กค้ำเอาไว้เพื่อให้เลือดเดินทางได้สะดวกขึ้น
- การทำบายพาส เป็นการต่อเส้นเลือดข้ามส่วนที่ตีบตันด้วยเส้นเลือดอีกเส้น
- การให้ยาละลายลิ่มเลือด เป็นการประคับประคองอาการ แต่ไม่ได้แก้ไขเส้นเลือดที่ตีบตัน การใช้ยาสลายลิ่มเลือดจะได้ผลแค่ 50%
- การผ่าตัด ปัจจุบันไม่นิยมใช้เพราะแผลใหญ่ ใช้เวลาพักฟื้นนาน แต่ถ้ารักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ก็จำเป็นต้องผ่าตัด
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ไม่ว่าจะในระยะใหน ก็สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่ผู้ป่วยจะต้องมาถึงมือหมอให้เร็วที่สุด และหัวใจไม่ล้มเหลวไปเสียก่อน
รักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
โรคนี้ไม่มีคำว่าหายขาด เพียงแต่รักษาตรงที่เป็นจุดสำคัญ การให้ยาเพื่อไม่ให้เกิดการอุดตันซ้ำเป็นการควบคุมความเสี่ยง ถ้าผู้ป่วยสูบบุหรี่จำเป็นต้องเลิก หันมาดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ก็จะทำให้โอกาสที่จะเป็นซ้ำลดลงตามลำดับได้
การดูแลตัวเองหลังการรักษา
- กินยาต่อเนื่องหลังการรักษา 6 เดือนแรก ห้ามขาดยา เพราะอาจมีการอุดตันซ้ำจากลิ่มเลือดได้อีก
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์
- ควบคุมความเสี่ยงคือ เบาหวาน ความดันโลหิต ไขมันในเลือด
การเลือกรับประทานอาหาร และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคุณเองตั้งแต่วันนี้ เป็นวิธีธรรมชาติที่ดีกว่าการใช้ยา หรือการรอให้เป็นแล้วจึงรักษา ถ้าคุณดูแลหัวใจของคุณให้แข็งแรง ร่างกายโดยรวมก็จะแข็งแรง