โรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) หลายสายพันธุ์ เป็นโรคที่พบบ่อยและแพร่ระบาดง่ายมาก ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์ที่ไม่อันตราย
ส่วนสายพันธุ์ EV71 เป็นสายพันธุ์ที่อันตรายรุนแรง อาจเสียชีวิตเฉียบพลันได้ แต่พบน้อยมากในประเทศไทย
โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่โดยทั่วไปผู้ใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันสำหรับโรคนี้แล้ว ซึ่งกลุ่มเสี่ยงจะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี
ติดเชื้อโรคมือเท้าปากได้อย่างไร?
โรคมือเท้าปากจะติดต่อผ่าน น้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองของแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย ถ้าคนที่มีเชื้อโรคนี้เอามือที่เปื้อนน้ำลายตัวเอง ไปป้ายตามจุดต่างๆ เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟท์ ของเล่น เก้าอี้ เชื้อจะสามารถอยู่ตรงนั้นได้นาน 7 วัน
ถ้าเด็กคนอื่นไปสัมผัสสิ่งของเหล่านั้นแล้วไม่ล้างมือ และใช้มือสัมผัสเยื่อบุต่างๆ เช่น การขยี้ตา แคะจมูก เอามือเข้าปาก หรือเข้าห้องน้ำแล้วไม่ล้างมือ จะทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย และอาศัยอยู่ในลำไส้ ซึ่งจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 3-7 วัน
ระยะแพร่เชื้อ
ระยะแพร่เชื้อประมาณ 7-10 วัน สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีไข้ขึ้น 1 วัน และหลังจากแผลในปากหายแล้ว และไม่มีตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำใสที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าแล้ว แต่เชื้อโรคก็ยังคงแพร่เชื้อต่อได้อีก 1 วัน
อาการของโรคมือเท้าปาก
- เริ่มมีอาการไอถี่ๆ มีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว
- มีไข้สูง 2-3 วัน แล้วมีตุ่มน้ำขึ้นบริเวณ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปาก หรือก้น ตุ่มที่เกิดขึ้นบางครั้งอาจเกิดในที่ไดที่หนึ่งเท่านั้น
- มีตุ่มในคอ ทำให้เด็กเจ็บคอมาก บางทีเด็กไม่ยอมกลืนน้ำลาย ไม่ยอมกินน้ำ กินข้าว เพราะเจ็บแผล
- ในเด็กเล็กอาจมีปัญหากินนมได้น้อยลง บางคนน้ำลายไหลเยอะมากขึ้น สังเกตุฝามือ ฝาเท้า และในปาก จะเริ่มมีตุ่มขึ้น
ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ให้รีบไปพบแพทย์
- มีไข้สูง 39 องศา 3 วันไม่ลด
- กระสับกระส่าย ปากคอแห้ง นอนซมไม่ค่อยเล่น ถ้าเป็นเด็กเล็กจะลุกลี้ลุกลนผิดปกติ
- อาเจียนมาก ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย
การรักษาโรคมือเท้าปาก
- โรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงเนื่องจากเป็นไวรัส ไม่มียาฆ่าเชื้อ และไม่มีวัคซีนป้องกัน จะรักษาตามอาการ ถ้าอาการไม่รุนแรง ไข้ไม่สูง เด็กพอจะกินอาหารและดื่มน้ำได้ ไม่มีโรคแทรกซ้อน ก็จะหายได้เองภายใน 6-10 วัน
- กรณีป่วยมากทานอะไรไม่ได้เลย อาเจียน บางทีมีท้องเสียร่วมด้วย ปัสสาวะออกน้อย จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลให้น้ำเกลือ และอยู่ในความดูแลของแพทย์จนกว่าเด็กจะเริ่มทานได้ พอไข้ลดสามารถกลับบ้านได้
- แพทย์จะให้ยาชา ใช้หยอดก่อนดื่มน้ำและก่อนรับประทานอาหาร และให้เด็กดื่มเครื่องดื่มหรือกินอาหารที่มีอุณหภูมิเย็นขึ้น เพื่อลดอาการเจ็บคอ
- มาพบแทพย์ตามนัด
กรณีมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
กรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน คือ ก้านสมองอักเสบ จะมีอาการไข้สูง ซึม อาเจียน ปวดหัว หายใจหอบ การทำงานของหัวใจหรือการทำงานของปอดล้มเหลว มีอาการชัก
ซึ่งก้านสมองเป็นส่วนสำคัญที่ควบคุมการทำงานของหัวใจและปอด ถ้าเกิดการอักเสบขึ้นและมีอาการแล้วโอกาสเสียชีวิตสูงมาก เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะเจาะจงเพราะเป็นไวรัส
ในกรณีที่มีอาการรุนแรงแบบนี้ ต้องได้รับการรักษาในห้อง ICU ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้ยา Intra Venous ImmunoGlobulin (IVIG) โดยการฉีดเข้าไปในหลอดเลือด แต่ประสิทธิภาพการรักษาจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์
วิธีป้องกันโรคมือเท้าปาก
- กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
- ช่วงที่มีการระบาดของโรค แนะนำให้อยู่บ้านดีที่สุด ควรเลี่ยงไปห้าง สถานที่เล่น โรงเรียนอนุบาล สระว่ายน้ำที่มีมาตรฐานการฆ่าเชื้อไม่ดี
- หลีกเลี่ยงอย่าให้เด็กเอาของเข้าปาก
- เด็กมีอาการไข้ ไม่แน่ใจแนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็คและวินิจฉัย
- ให้แยกเด็กที่ป่วยออก ไม่ให้ร่วมกิจกรรมกับเด็กคนอื่น ผู้ที่ดูแลเด็กควรล้างมือให้สะอาด และดูแลรักษาความสะอาดบริเวณที่อยู่อาศัย และบริเวณบ้านเป็นประจำ
รู้หรือไม่?
- นมแม่ สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคนี้ได้ เนื่องจากในนมแม่มีสารหลายตัว ที่คอยยับยั้งการเกาะติดของเชื้อไวรัสตัวนี้ที่จะไปเกาะอยู่ที่เยื่อบุลำไส้
- เป็นแล้วมีโอกาสเป็นอีกได้ ถ้าเป็นแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรคเฉพาะสายพันธุ์ที่ตัวเองเป็นในปีนั้น ถ้าเกิดไปเจอสายพันธุ์อื่นก็มีโอกาสเป็นได้ แต่อาการจะเบาลง
- เด็กที่เป็นโรคนี้หลายครั้งแล้ว จะไม่แสดงอาการทั้งหมด อาจมีตุ่มขึ้นแค่บางจุดหรือไม่มีตุ่มขึ้นเลย อาจมีไข้หรือไม่มีก็ได้ แต่เด็กที่เป็นครั้งแรก ส่วนใหญ่อาการจะมีครบทุกอย่าง