โรคกระดูกพรุน เป็นอย่างไร?
โรคกระดูกพรุน เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีการสร้างมวลกระดูกลดน้อยลง และมีการสลายกระดูกมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้เกิดการสูญเสียเนื้อกระดูกและแคลเซียมไปพร้อมๆกัน ส่งผลให้กระดูกบางลงและเกิดภาวะกระดูกพรุนในที่สุด จนไม่สามารถรับน้ำหนักหรือแรงกระแทกตามปกติได้ เกิดความเสี่ยงกระดูกหักง่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น การหกล้มหรือยกของหนัก
จริงๆ แล้วกระดูกเป็นอวัยวะที่มีการสร้างและสลายตัวอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ
- ช่วงเด็กถึงอายุ 30 ปี ร่างกายจะมีการสร้างมวลกระดูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- ช่วงอายุ 30-45 ปี ร่างกายจะมีการสร้างและสลายกระดูกเท่าๆ กัน
- หลังอายุ 45 ปีขึ้นไป จะมีการสลายกระดูกมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการสร้างลดลง จนทำให้เกิดภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุนในที่สุด
โรคกระดูกพรุนเกิดจากสาเหตุอะไร?
- ผู้หญิงที่ขาดฮอร์โมนเพศหญิงหรือหมดประจำเดือน เพราะฮอร์โมนเพศหญิงนั้น เป็นตัวควบคุมการสร้างกระดูก
- เพศชายที่หย่อนสมรรถภาพทางเพศหรืออายุ 65 ปีขึ้นไป
- ขาดแคลเซียมและวิตามินดี
- มีปัจจัยเร่งอื่นๆ เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ การใช้ยาสเตียรอยด์ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา กาแฟ เป็นต้น
- คนผอม เพราะขาดไขมัน ซึ่งไขมันนั้นสามารถเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนช่วยเสริมสร้างกระดูกได้
- มีโรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมะตอยด์ โรคไต โรคขาดวิตามิน เป็นต้น
- ลดน้ำหนักผิดวิธี และขาดการออกกำลังกาย
อาการ
โรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบ ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการอะไร จะรู้ตัวอีกทีเมื่อเราหกล้มแล้วกระดูกหัก บางรายอาจมีอาการปวดบริเวณกระดูกส่วนกลางของร่างกาย เช่น เอว หลัง และมีส่วนสูงลดลง หลังค่อม
การตรวจวินิจฉัย
สามารถตรวจความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่องวัดความหนาแน่นของกระดูก หรือ Bone Densitometer การตรวจนี้เป็นการตรวจโดยใช้แสงเอกซเรย์ที่มีปริมาณน้อยมาก ส่องตามจุดต่างๆ ที่ต้องการตรวจ
การรักษาโรคกระดูกพรุน
- การรักษาด้วยยาที่มีฤทธิ์ลดการทำลายกระดูก เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนแคลซิโตนัน แคลเซียม และยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างกระดูก เช่น วิตามินดี กับ ฟลูออไรด์
- การฉีดซีเมนต์เข้ากระดูก วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ
การฉีดซีเมนต์เข้ากระดูก
แนวทางการรักษาโรคกระดูกพรุน โดยการฉีดซีเมนต์เข้ากระดูก เป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังจากภาวะกระดูกสันหลังหักหรือทรุดตัว และภาวะกระดูกสันหลังผิดรูปที่เกิดจากกระดูกพรุนเป็นหลัก
ซึ่งการฉีดซีเมนต์เข้าไปพอกหรือเสริมตรงตำแหน่งที่มีกระดูกหัก จะเป็นการเสริมความแข็งแรงของกระดูกที่หัก หลังจากฉีดซีเมนต์เข้าไปแล้ว จะใช้เวลาประมาณ 20 นาที ซีเมนต์ก็จะแข็งตัวและสามารถรองรับน้ำหนักของผู้ป่วยได้
การรักษาด้วยวิธีนี้ เป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีกระดูกที่เปราะบาง จึงไม่สามารถใช้วิธีเชื่อมต่อด้วยการยึดน็อทหรือสกรูได้
ข้อดีของการฉีดซีเมนต์
- ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ
- ลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากการผ่าตัด
- แผลมีขนาดเล็ก
- ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย
- ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว
ค่าใช้จ่ายฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลัง
ค่าใช้จ่ายในการฉีดซีเมนต์กระดูกสันหลัง จะอยู่ที่ประมาณ 60,000 – 150,000 บาท ขึ้นอยู่กับสถานที่พยาบาลที่เราเลือกใช้ โดยส่วนใหญ่ราคานี้จะรวมค่าธรรมเนียมแพทย์ ค่าห้องผ่าตัด ห้องพักฟื้น 6-8 ชั่วโมง หรือ 1 วัน และค่าอาหาร ค่ายา ค่าบริการพยาบาล และค่าบริการโรงพยาบาล
การป้องกันโรคกระดูกพรุน
- บริโภคอาหารให้ถูกต้อง มีแคลเซียมสูง กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ ถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ และสารอาหารที่จำเป็นต่อกระดูกตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยรุ่น เช่น แมกนีเซียม วิตามินดี แมงกานีส สังกะสี ทองแดง สารสกัดเข้มข้นอัลฟัลฟา
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น วิ่ง เดิน ยกน้ำหนัก ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่มีการแบกรับน้ำหนัก จะช่วยเพิ่มเนื้อของกระดูกบริเวณที่รับน้ำหนักได้
- ตรวจเช็ควัดความหนาแน่นของมวลกระดูกทุกปี
- ผู้หญิงที่ประจำเดือนใกล้จะหมดหรือเริ่มเข้าสู่วัยทอง อาจใช้ยาเพิ่มฮอร์โมนใน 7 ปีแรก เพื่อป้องกันกระดูกพรุน
- ไม่กินอาหารเค็มจัดหรือมีโซเดียมมาก เพราะเกลือโซเดียมที่มากจนเกินไปจะทำให้การดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ลดลง ร่างกายจึงไม่สามารถนำแคลเซียมมาใช้ได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม เพราะจะทำให้ให้เสียความสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัส ร่างกายจึงจำเป็นต้องสลายแคลเซียมออกจากคลังกระดูก
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ เพราะแอลกอฮอล์และคาเฟอีนในเครื่องดื่มเหล่านี้ จะเข้าไปขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียม ทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมามากกว่าปกติ ดังนั้นไม่ควรดื่มชา กาแฟ เกินวันละ 3 แก้ว
- งดการสูบบุหรี่ เพราะทำให้ร่างกายมีภาวะเป็นกรด เป็นตัวทำให้แคลเซียมละลายจากกระดูก
- ระวังการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาที่มีสเตียรอยด์ ยาลดกรดที่มีอลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบ ยาเหล่านี้เร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย ดังนั้นหากจำเป็นต้องกินเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
รู้หรือไม่?
- โรคกระดูกพรุนมักเกิดกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
- ผู้ชายจะเป็นโรคกระดูกพรุนช้ากว่าผู้หญิงประมาณ 10 ปี
- ร่างกายเราต้องการแคลเซียมโดยเฉลี่ย 800-1,000 มิลลิกรัม/วัน ขึ้นอยู่กับเพศและอายุ
- มีผู้หญิงมากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลกป่วยเป็นโรคกระดูกพรุน
- โรคกระดูกพรุนในผู้หญิงอายุเกิน 40 ปี พบสะโพกหัก13.6%, กระดูกสันหลังหัก 19.6%
- อัตราค่ารักษาสะโพกหักและกระดูกสันหลังหักสูงกว่า 100,000 บาท และต้องใช้เวลานอนพักฟื้นในโรงพยาบาลยาวนานถึง 20 วัน
- ถ้าส่วนสูงลดลง 2 เซ็นติเมตร ภายใน 1 ปี ถือว่าผิดปกติ อาจเป็นโรคกระดูกพรุนได้
- มีความเชื่อกันว่าอาหารหลายๆ ชนิดที่ทำให้เกิดกรดในร่างกายนั้น มีส่วนทำให้กระดูกพรุนได้ เช่น อาหารหวาน โซดา น้ำอัดลม ชา กาแฟ
- สตรีที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน เช่น มีรูปร่างผอม ดื่มเหล้า กาแฟ สูบบุหรี่ ทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อย ควรตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกเป็นประจำทุกปี
- ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าโรคกระดูกพรุนจะพบมากในผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันนี้คนที่เป็นโรคนี้กลับมีอายุเฉลี่ยน้อยลงเรื่อยๆ
โรคกระดูกพรุนภัยกระทรวงสาธารณสุข