อาการหลังให้คีโม
อาการหลังให้คีโม หรือยาเคมีบำบัด ในผู้ป่วยแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดยาและขนาดยาที่ผู้ป่วยได้รับ ประกอบกับสภาวะร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ก่อนการได้รับยาเคมีบำบัด
แม้ยาเคมีบำบัดจะมีผลดีสามารถต้านและทำลายเซลล์มะเร็งได้ แต่ก็มีผลกระทบต่อเซลล์ปกติในร่างกายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเซลล์ปกติที่มีคุณสมบัติในการผลัดเซลล์และแบ่งตัวได้เร็ว เช่น เซลล์เม็ดเลือดต่างๆ ในไขกระดูก
อาการหลังให้คีโม
- คลื่นใส้และอาเจียน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ผมร่วง เนื่องจากยาเคมีบำบัดออกฤทธิ์กับเซลล์ที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เช่น เซลล์มะเร็ง และเซลล์รากผม ทำให้เกิดภาวะผมร่วงได้ ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต
- การติดเชื้อ
- ภาวะแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ภาวะซีด หรือเม็ดเลือดขาวต่ำ
- อาการเจ็บปากหรือเจ็บคอ เนื่องจากยาเคมีบำบัดออกฤทธิ์ต่อเซลล์เยื่อบุช่องปาก และทางเดินอาหารส่วนต้น ทำให้เกิดอาการอักเสบของเยื่อบุตามมา ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบของเยื่อบุปากและทางเดินอาหารส่วนต้นที่รุนแรง จะกลืนอาหารลำบาก พูดไม่ถนัด อาจมีเลือดออก เป็นแผล หรือติดเชื้อซ้ำได้ หลังจากรับยาเคมีบำบัด 2-3 สัปดาห์
- อาการท้องผูก ถ่ายลำบาก ไม่ถ่ายติดต่อกันหลายวัน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการท้องอืด ปวดท้อง มักพบในผู้ป่วยที่ไม่ค่อยลุกเดิน นอนติดเตียง กินอาหารที่ไม่มีกากใย ดื่มน้ำน้อย ผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า และผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดบางตัว
- อาการท้องเสีย อาจพบร่วมกับท้องอืดหรือปวดท้องได้ ซึ่งพบได้ 3 ใน 4 ของผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด เพราะยาเคมีบำบัดมีผลข้างเคียงในการทำลายเซลล์เยื่อบุลำไส้
โดยผลข้างเคียงดังกล่าว มักเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น พอยาเคมีบำบัดหมดฤทธิ์ อาการต่างๆ ก็จะค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีอาการเหล่านี้ทั้งหมด การดูและสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอ ประกอบกับการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็สามารถช่วยลดผลกระทบของยาเคมีบำบัดที่มีต่อร่างกายลงได้
อาการที่ต้องไปพบแพทย์ทันที!
เมื่อได้รับยาเคมีบำบัดผู้ป่วยบางรายอาจอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ ผลข้างเคียงบางประการถ้าไม่รักษาทันท่วงที อาจนำไปสู่ผลแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น อาการไข้ระหว่างที่เม็ดเลือดขาวต่ำ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที
- บริเวณแขนข้างที่ได้รับยาเคมีบำบัด มีอาการบวม แดง ร้อน แสบ หรือดำคล้ำ
- มีแผลหรือมีเชื้อราในช่องปากและลำคอ
- มีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ร่วมกับมีอาการท้องเสีย
- ปัสสาวะมีเลือดป่น เจ็บเวลาปัสสาวะ หรือปัสสาวะไม่ออกภายใน 8 ชั่วโมง
- เยื่อบุช่องปากเป็นแผล และอักเสบรุนแรง
- มีอาการหน้ามืด ใจสั่น แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย อาการซีดมากจากโลหิตจาง อ่อนเพลีย รู้สึกจะเป็นลม ปวดศรีษะอย่างรุนแรง และสูญเสียการทรงตัว
- ซึมลง ชัก หรือมีอาการเกร็งผิดปกติ
- ถ้ามีไข้สูงโดยวัดอุณหภูมิได้มากกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเซียลเซียส มีไข้ร่วมกับอาการหนาวสั่น ควรพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจรับระดับเม็ดเลือด และค้นหาสาเหตุของการติดเชื้อในร่างกาย
- มีอาการปวดท้องรุนแรง ท้องผูกหรือท้องเดินอย่างรุ่นแรง
- น้ำหนักลดหรือเพิ่มอย่างรวดเร็ว
- มีอาการบวมผิดปกติ
- เลือดออกง่ายหรือไหลไม่หยุด หรือมีจุดเลือดจ้ำบริเวณผิวหนัง หรือ มีผื่นขึ้นตามตัว
ถ้าอาการรุนแรงมากจนไม่สามารถกินอาหารและดื่มน้ำได้เพียงพอ หรือผู้ป่วยมีอาการซึมลง ควรพบแพทย์เพื่อรักษาภาวะดังกล่าว