ตะคริว
ตะคริว (Cramp) เกิดจากกล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน ซึ่งมักจะเป็นที่กล้ามเนื้อแขนและขา โดยทั่วจะเป็นไม่เกิน 2 นาที แต่อาจมีบางรายเป็นนานถึง 5 นาที
ตะคริวมักจะเกิดกับนักกีฬาที่เล่นกีฬาหนัก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่สูบบุหรี่จัด ผู้ป่วยโรคไตวายที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องไตเทียม แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกวัย
สาเหตุที่ทำให้เกิดตะคริว
- ตะคริวที่น่องและนิ้วเท้าเกิดจากการเกรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งถูกใช้งานหนักเกินไป เช่น ใส่ส้นสูงเดินเป็นเวลานาน หรือต้องยืนนานๆ และการเล่นกีฬาอย่างหักโหม
- ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่ เช่น เสียเหงื่อมาก ท้องเสียอย่างรุนแรง ผู้ที่ทานยาขับปัสสาวะ
- ความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิด เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย
- มีความเครียดสะสมมานาน
- กำลังไดเอท อาจทำให้ขาดสารอาหารหรือใครที่ชอบกินอาหารชนิดเดียวกันซ้ำๆ
- เป็นตะคริวระหว่างนอน ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดวิตามินและระบบไหลเวียนโลหิตบกพร่อง
- เกิดจากเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวทำงานผิดปกติ ทำให้การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ไม่ดี
วิธีรักษาอาการตะคริว
เมื่อเป็นตะคริว ควรทำการยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่เกิดตะคริวนั้นให้คลายออกอย่างช้าๆ เช่น เกิดตะคริวที่น่อง ให้เหยียดขาตรงแล้วให้เพื่อนดันฝ่าเท้าเข้าหาหน้าแข้ง
โดยพยายามให้หัวเข่าตึง อาการจะดีขึ้นภายใน 5-10 นาที แต่ถ้าอยู่คนเดียวสามารถใช้ผ้าพันฝ่าเท้า เหยียดขาออกให้ตรง แล้วดึงให้ปลายเท้ากระดกเข้าหาหน้าแข้ง
ควรดันปลายเท้าให้กระดกขึ้นอย่างช้าๆ ห้ามกระตุกหรือกระชากรุนแรง เพราะอาจเกิดการเจ็บปวดจนกล้ามเนื้อฉีกขาดได้
วิธีป้องกัน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายหนักเกินไป ควรจะค่อยเป็นค่อยไป และดื่มน้ำหรือเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอหลังจากออกกำลังกาย
- พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารครบ 5 หมู่
- ในผู้สูงวัยการจะขยับแขนขา ควรค่อยๆ ขยับอย่างช้าๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นมาก
- สวมใส่รองเท้าที่มีขนาดพอเหมาะ
รู้หรือไม่?
- หญิงตั้งครรภ์มักเป็นตะคริวในไตรมาสที่2-3 บริเวณน่องและต้นขา
- ถ้าเป็นตะคริวระหว่างว่ายน้ำหรือขับรถ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- เป็นตะคริวตอนกลางคืนบ่อยๆ แนะนำให้กินวิตามินอี และวิตามินซีเสริม
- ผู้ที่เป็นตะคริวบ่อยๆ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุการเกิดตะคริวและทำการรักษา
เป็นตะคริวขณะออกกำลังกาย ควรทำอย่างไร?