อาการตกขาว
อาการตกขาว คืออาการที่เกิดจากของเหลวสีขาวใสหรือสีขาวขุ่นไหลออกมาจากทางช่องคลอด ซึ่งผู้หญิงจะมีตกขาวเป็นปกติ เพราะตกขาวเป็นของเหลวที่ถูกผลิตโดยต่อมภายในช่องคลอด
เพื่อช่วยนำเอาเซลล์ที่ตายแล้ว และแบคทีเรียที่ช่องคลอดออกมา ทำให้ช่องคลอดมีความสะอาดและป้องกันการติดเชื้อในระบบสืบพันธ์ แต่ที่สำคัญคือต้องไม่มีกลิ่น
ปริมาณของตกขาวอาจเยอะขึ้นในช่วงกลางรอบเดือนที่มีการตกไข่ หรือใกล้วันมีประจำเดือน และหลังหมดประจำเดือนในช่วงแรก หรือเมื่อมีการตื่นตัวทางเพศ และในเด็กหญิงที่กำลังเข้าวัยเจริญพันธุ์เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
อาการตกขาวที่ผิดปกติ
- ตกขาวที่มีกลิ่นแรง กลิ่นไม่เหมือนเดิม มีกลิ่นคาว กลิ่นเหมือนปลาเน่า
- สีของตกขาวมีการเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีเขียว สีเทา มีเลือดปน
- มีอาการอื่นร่วม เช่น อาการคัน มีไข้ ปวดท้อง ท้องผูก แสบร้อนบริเวณช่องคลอด
- มีปริมาณที่เยอะขึ้นจนทำให้กางเกงในเปียก
สีของตกขาวบอกอะไร?
- สีเขียว เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน หรือเกิดจากพยาธิบางชนิดที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- สีขาว ลักษณะเหมือโยเกิร์ตหรือขาวขุ่นเหมือนนมบูดเป็นเม็ดๆ มักจะเกิดจากเชื้อราซึ่งพบได้บ่อย บางคนมีอาการคันร่วมด้วยหรือแสบร้อนบริเวณช่องคลอด โดยเฉพาะเวลามีเพศสัมพันธ์ ฝายชายอาจมีอาการคันด้วย
- สีเทา เกิดจากการติดเชื้อแทคทีเรีย ซึ่งมีอยู่หลายชนิด ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดธรรมดาสามารถทานยาได้
- สีน้ำตาลมีเลือดปน อาจเป็นเนื้องอก หรือมะเร็งปากมดลูก ควรไปพบแพทย์เพื่อการตรวจรักษาอย่างละเอียด
สาเหตุของการเกิดตกขาวที่ผิดปกติ
- ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน
- มีเนื้องอก เป็นมะเร็ง
- มีสิ่งแปลกปลอมในช่องคลอด
- ความผิดปกติของฮอร์โมน
- ร่างกายอ่อนแอ โลหิตจาง
- เกิดการอักเสบของมดลูกหลังการคลอด มีการเคลื่อนของมดลูก
- ในผู้หญิงอายุน้อยอาจเกิดจากพยาธิเส้นด้าย ซึ่งเป็นผลมาจากร่างกายอ่อนแอร่วมกับการไม่รักษาความสะอาด
- การนอนดึกจะกระตุ้นให้เป็นตกขาวมากขึ้น
การรักษา
- แพทย์จะรักษาอาการตามเชื้อที่ได้รับ
- ถ้าติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะสำหรับเชื้อแบคทีเรียชนิดนั้น และควรงดแอลกอฮอล์ระหว่างที่ทานยาปฏิชีวนะ เพราะจะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา
- เชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ติดต่อทางเพศสันมพันธ์ จำเป็นต้องให้ยาคู่นอนด้วย
- ถ้าเป็นเชื้อรา แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีทั้งแบบเหน็บและแบบกิน
เมื่อมีตกขาวผิดปกติแล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา หากติดเชื้อที่อันตรายจะทำให้มีโอกาสติดเชื้ออุ้งเชิงกราน ทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ อาจลามไปที่มดลูกและรังไข่ได้
วิธีใช้ยาเหน็บ
- ล้างมือให้สะอาด
- แกะยางจากแผง จุ่มน้ำเล็กน้อยเพื่อให้เม็ดยาชื้น เวลาเหน็บจะได้ง่ายขึ้น
- นอนหงายและชันเขา แยกขาออกจากกัน
- ค่อยๆ ใส่หลอดบรรจุยาเข้าไปในช่องคลอดหรือใช้นิ้วดันยาให้เข้าไป
- หากใช้อุปกรณ์ช่วยสอดยา ให้กดด้านหลอดบรรจุยาจนยาเหน็บเข้าไปในช่องคลอด จากนั้นนำหลอดบรรรจุยาออกมาจากช่องคลอด
- แนะนำให้ใช้ยาก่อนนอนเพราะจะได้นอนหลับไปเลย
ยาเหน็บหรือยาสอดเข้าช่องคลอดแต่ละชนิด จะมีข้อบ่งใช้และมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน ก่อนใช้ยาควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อน บางคนอาจมีอาการแพ้ยาได้ เช่น มีผื่น หน้าบวม ปากบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรือเจ็บปาก เจ็บตาได้ ถ้าเกิดอาการเหล่านี้ให้รีบพบแพทย์ทันที
คำแนะนำในการใช้ยาเหน็บ
ถ้ามีอาการตกขาวผิดปกติ ก่อนไปซื้อยาหรือพบแพทย์ อย่าลืมแจ้งอาการเจ็บป่วยปัจจุบัน โรคประจำตัว และอาการแพ้ยากับคุณหมอหรือเภสัชกรทราบทุกครั้ง เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงของการใช้ยา และเพื่อเป็นการเลือกยาที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับคุณ
การป้องกัน
- ทำร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- งดบุหรี่และแอลกอฮอลล์
- หลีกเลี่ยงการใช้แผ่นอนามัยแบบบางทุกวัน เพราะจะทำให้เกิดการอับชื้นและเกิดการสะสมเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราได้
- การเช็ดทำความสะอาดช่องคลอด ให้เช็ดจากช่องคลอดไปที่ทวารหนัก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้อุจจาระปนเปื้อนบริเวณช่องคลอด
- ไม่สวนล้างช่องคลอดโดยไม่จำเป็น
- ไม่ทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น
- ไม่ใส่กางเกงที่คับแน่นจนเกินไป
- ให้ผู้ชายทำความสะอาดอวัยวะเพศก่อนมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารทอดและเผ็ด
ในช่องคลอดจะมีภาวะเป็นกรดอ่อนๆอยู่ ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ แต่ถ้าเรามีภาวะกรดลดลง เช่น ตั้งครรภ์ มีประจำเดือน กินยาฆ่าเชื้ออื่นๆ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ภูมิร่างกายต่ำลง กินยากดภูมิ ก็จะทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้
รู้หรือไม่?
- เด็กที่เป็นตกขาว ต้องพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ อาจมีอะไรแปลกปลอมอยู่ในช่องคลอด เช่น ของเล่นชิ้นเล็กๆ หรืออาจเกิดจากการถูกข่มขืน ซึ่งเด็กๆ ไม่ควรมีอาการตกขาว
- การฉีดน้ำสวนล้างช่องคลอดจะทำให้สภาพแวดล้อมในช่องคลอดเกิดการเปลี่ยนแปลง อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียดีตายได้ เป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อมากขึ้น
- ผู้หญิงตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป หรือผู้หญิงที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ แนะนำให้ไปตรวจภายในเป็นประจำทุกปี
- การทำความสะอาดมากเกินไปอาจทำให้ช่องคลอดแห้ง ผิวหนังบาง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- อาการตกขาวสามารถพบได้ในเด็กทารกหลังคลอดไม่เกิน 1 สัปดาห์ เนื่องจากการได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนจากมารดา
- ภาวะขาดสารอาหารทำให้มีตกขาวได้
ภาวะตกขาวผิดปกติเป็นปัญหาที่ผู้หญิงทุกคนควรเอาใจใส่ หากพบการตกขาวผิดปกติควรไปพบแพทย์ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย