การดูแลผู้ป่วยที่ให้เคมีบำบัด
การดูแลผู้ป่วยที่ให้เคมีบำบัด ทั้งในระหว่างการให้ยาและหลังการให้ยาเคมีบำบัดครบแล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี ทั้งในระหว่างการให้ยาเคมีบำบัด และการดูแลหลังการได้รับยาเคมบำบัด
ระหว่างให้ยาเคมีบำบัด
ระหว่างการทำคีโม ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับสารอาหารเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ เพื่อซ่อมแซมเซลล์ปกติในร่างกาย และช่วยให้ร่างกายสามารถรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดได้อย่างครบถ้วน
เพราะหลังจากที่ผู้ป่วยรับยาเคมีบำบัดไปแล้ว ผลข้างเคียงต่างๆ อาจมีผลให้น้ำหนักตัวลดลง ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน และประสิทธิภาพในการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดลดลง
ดังนั้นผู้ป่วยควรดูแลตัวเองระหว่างการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ดังนี้
- พยายามรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ระหว่างการรักษา ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์และครบทั้ง 5 หมู่ ไม่เลือกกินอาหารเพียงอย่างไดอย่างหนึ่ง เพราะผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวต่ำ ร่างกายจะอ่อนแอลง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อชั่วคราว
- ทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่สุก เช่น หอยนางรม ปลาดิบ ของหมักดอง ส้มตำ ยำต่างๆ รวมถึงแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
- ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวต่ำควรหลีกเลี่ยงการกินผักและผลไม้สดชั่วคราว แต่ถ้าผู้ป่วยเลี่ยงไม่ได้ควรแจ้งสให้แพทย์ทราบ เพื่อประกอบการรักษาในครั้งต่อไป แต่ถ้าผลเลือดเป็นปกติผู้ป่วยสามารถรับประทานได้
- ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง จะช่วยลดภาวะติดเชื้อได้
- ในการฉีดยาเคมีบำบัดให้ผู้ป่วย จะต้องมีความระมัดระวังอย่างสูง เพราะถ้ายารั่วไหลออกนอกเส้นเลือด จะทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณนั้นอย่างรุนแรง และอาจเกิดเป็นแผลเรื้อรังได้
- ดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น การทำความสะอาดช่องปากโดยการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อยๆ เพื่อป้องกันและลดการอักเสบภายในช่องปาก
- ดูแลอาการคลื่นไส้อาเจียน และเบื่ออาหาร ซึ่งจะต้องให้ยาแก้อาเจียนร่วมด้วย
- ดูแลปัญหาอื่นๆ เช่น อาการปวด อาการนอนไม่หลับ และอาการมีไข้ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ยาหรือการติดเชื้อ
- ระหว่างที่ได้รับยาเคมีบำบัด ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยารักษาทางเลือกไปก่อน
- ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน
- พักผ่อนและออกกำลังกายเท่าที่ทำได้ จะทำให้จิตใจสบาย
- ระหว่างที่รับยาเคมีบำบัดควรแจ้งอาการข้างเคียงที่เกิดให้แพทย์ทราบ เช่น ปวดบริเวณที่ได้รับยาเคมีบำบัด ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทันที รวมถึงในกรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกมีอาการผิดปกติใดๆ
หลังให้เคมีบำบัดครบแล้ว
เมื่อได้รับยาเคมีบำบัดครบแล้ว ควรดูแลตัวเองและสังเกตุอาการหลังได้รับยาเคมีบำบัด เพราะผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา ตั้งแต่ในขณะที่ได้รับยาหรือเกิดภายหลังได้รับยาเป็นชั่วโมงหรือหลายอาทิตย์
- ควรตัดผมสั้นเมื่อเกิดภาวะผมร่วง ใช้แชมพูชนิดอ่อน หรือแชมพูสระผมเด็ก หลีกเลี่ยงการย้อมหรือดัดผม และการใช้สเปรย์
- ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อ เช่น ถั่วต่างๆ ต้นหอม ข้าวโพด หรือน้ำอัดลม เป็นต้น ควรกินอาหารที่มีกากใยต่ำ เพื่อลดปริมาณการขับถ่าย ลดการกินอาหารที่มีไขมัน และน้ำตาลมากเกินไป
- เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ควรดูแลเรื่องความสะอาดและสุขอนามัย รักษาความสะอาดของปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ ใช้แปรงสีฟันชนิดอ่อน และไม่ควรแปรงฟันแรงๆ หลีกเลี่ยงการใช้ไหมขัดฟันหรือไม้จิ้มฟัน
- งดดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่
- ผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ตามปกติ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ ควรรับประทานอาหารครั้งและน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ร่างกายต้องการมากขึ้น
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด มันจัด กลิ่นฉุน และควรดื่มน้ำอุ่น น้ำส้ม หรือน้ำมะนาว บ้วนปากด้วยน้ำอุ่น หรือน้ำเกลือเจือจางหลังกินอาหาร หรือหลังอาเจียนทุกครั้ง
- และที่สำคัญไม่ควรกังวลมากเกินไป เพราะจะทำให้อาการคลื่นไส้อาเจียนเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนได้ แต่ผู้ป่วยสามารถป้องกันตั้งแต่แรกได้ โดยการกินยาป้องกันอาการคลื่นไส้ ก่อนการรับยาเคมีบำบัด และนอกจากนั้น การออกกำลังการแบบผ่อนคลาย ดนตรีบำบัด และการดื่มน้ำขิงก็สมารถช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนลงได้เช่นกัน
หมายเหตุ: ผู้ป่วยจะสามารถกลับมากินอาหารได้ตามปกติเมื่อแพทย์ระบุว่าเม็ดเลือดขาวอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว