มะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เริ่มจากการเป็นติ่งเนื้อเล็กๆ บริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ เปลี่ยนเซลล์ไปเป็นมะเร็ง มักพบในคนอายุ 40-50 ปี
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค
- ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านมมาก่อน
- ผู้ที่มีประวัติครอบครับหรือญาติสายตรง เคยเป็นโรคมะเร็งลำไส้มาก่อน โดยเฉพาะหากมีญาติเป็นมะเร็งก่อนอายุ 45 ปี และมีญาติเป็นโรคนี้มากกว่า 1 คน
- ผู้ที่เคยเป็นลำไส้อักเสบหรือเคยมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ยิ่งติ่งเนื้อมีหลายก้อนก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น
- ผู้ที่ดื่มสุรา สูบบุหรี่ และไม่ออกกำลังกาย
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
สาเหตุ
- กรรมพันธุ์
- อาหารการกิน เนื่องจากอาหารบางชนิดมีสารก่อมะเร็ง เช่น เนื้อสัตว์ที่มีสีแดง อาหารที่ใส่ดินประสิว อาหารปิ้งย่าง
- ท้องผูกบ่อยๆ เพราะท้องผูกทำให้อุจจาระตกค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ เซลล์ที่ลำไส้ใหญ่ก็อาจเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ผิดปกติได้
อาการ
- ในระยะเริ่มแรกจะไม่แสดงอาการเลย
- อุจจาระแข็งและก้อนเล็กลง เพราะเกิดติ่งเนื้อขึ้นในลำไส้ใหญ่ จึงทำให้ช่องว่างในลำไส้ใหญ่แคบเล็กลง
- มีอาการท้องเสียเรื้อรัง ในบางรายอาจมีน้ำหนักลดอย่างเห็นได้ชัด
- อุจจาระเป็นมูกหรือเลือด ซึ่งลักษณะของเลือดนั้นจะเคลือบอยู่กับก้อนอุจจาระ
- ลำไส้เกิดการอุดตัน จนไม่สามารถอุจจาระหรือผายลมได้ เนื่องจากติ่งเนื้อโต และปิดช่องว่างในลำไส้ใหญ่จนตัน
- ปวดมวนท้อง หรือปวดท้องบ่อยๆ
- โลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ
การรักษา
การผ่าตัด คือการรักาษาที่ได้ผลดีที่สุด แต่ถ้ามะเร็งเป็นก้อนขนาดใหญ่แล้ว ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด
ในรายที่ก้อนมะเร็งกินเข้าไปถึงกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก จำเป็นต้องตัดทั้งกล้ามเนื้อหูรูดและทวารหนักทิ้ง และใช้ถุงหน้าท้องเพื่อช่วยในการขับถ่ายทางหน้าท้องแทน
การตรวจคัดกรองโรค
- การตรวจอุจจาระ สะดวกและง่าย แต่มีความแม่นยำน้อย และต้องตรวจซ้ำทุกปี หากพบความผิดปกติ ต้องตรวจซ้ำด้วยการส่องกล้อง
- วิธีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ตลอดความยาว เป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง และไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำทุกปี หากไม่พบอาการผิดปกติ สามารถตรวจซ้ำได้อีกใน 5-10 ปี
แพทย์จะทำการสอดกล้องเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อให้กล้องผ่านเข้าไปที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งกล้องนี้สามารถเข้าไปได้จนสุดลำไส้ใหญ่
ก่อนจะส่องกล้องแพทย์จะฉีดยาให้หลับพร้อมยาแก้ปวด เพื่อทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ ใช้เวลาในการส่องกล้องประมาณ 15 นาที และจะหลับอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง ถ้าสองกล้องแล้วเจอติ่งเนื้อ สามารถตัดทิ้งได้เลย
วิธีป้องกัน
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงอย่างเพียงพอ
- ออกกำลังยสม่ำเสมอ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- รับประทานขิงเป็นประจำช่วยลดการอักเสบของลำไส้ใหญ่ โอกาสที่จะเกิดโรคนี้น้อยลง
- พยายามอย่าให้ท้องผูก
- เมื่ออายุ 50 ปี ควรไปตรวจคัดกรองมะเร็งลำไสใหญ่
รู้หรือไม่?
- ริดสีดวง จะถ่ายเป็นเลือดหยด ส่วนมะเร็งลำไส้ใหญ่เลือดจะเคลือบมากับอุจจาระ
- โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
- มะเร็งลำไส้ใหญ่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งตับ มะเร็งปวด และมะเร็งเต้านม
- ลำใส้ใหญ่เป็นหนึ่งในระบบทางเดินอาหารของเรา มีหน้าที่ดูดซึมสารอาหาร และขับออกเป็นกากทางทวารหนัก ซึ่งในคนปกติจะมีความยาวของลำไส้ใหญ่ประมาณ 60-100 เซ็นติเมตร